Parents One

เลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นคนอ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ 

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ” กันอยู่บ่อยๆ โดยความอ่อนโยนนั้นคือความนุ่มนวล ไม่หยาบคาย ไม่แข็งกระด้าง แต่ก็ไม่ใช่โอนอ่อนจนความเป็นตัวเองหายไป ซึ่งการเลี้ยงลูกให้มีความอ่อนโยนนั้นก็มีหลายปัจจัยประกอบกัน วันนี้เรามีแนวทางการเลี้ยงลูกให้เป็นคนอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอมาฝากค่ะ 

เอาใจใส่แต่ไม่ใช่ประคบประหงม

เด็กเป็นวัยที่ต้องการความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่มากที่สุด ซึ่งการดูแลเอาใจใส่คือการให้ความรัก ความอบอุ่น ใช้เวลากับลูกให้มากและสนับสนุนให้ลูกลองทำในสิ่งใหม่ๆ โดยอย่าไปจำกัดการกระทำเพราะความเป็นห่วงที่มากเกินไป โดยการได้รับความอบอุ่นจากพ่อแม่นั้นจะทำให้ลูกซึมซับและเรียนรู้ถึงความอ่อนโยนที่พ่อแม่แสดงต่อเขาได้เป็นอย่างดี แต่การเลี้ยงดูแบบประคบประหงมเกินไป จะทำให้ลูกโตมาเป็นเด็กที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ ไม่กล้าตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองค่ะ

สอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตัวเอง

เด็กมักจะพูดไม่ได้ว่าเขากำลังรู้สึกอะไร สิ่งที่เขาแสดงออกมาก็มีเพียงแค่หัวเราะและร้องไห้ ลูกรู้ว่าการหัวเราะคือการแสดงออกเมื่อเขามีความสุข แต่การร้องไห้นั้น เขารู้สึกว่ากำลังไม่ได้ดั่งใจในสิ่งที่เขาต้องการ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือทำให้ลูกรู้ว่าตัวเองกำลังรู้สึกอะไร จะได้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งวิธีการก็คือเราต้องรอให้ลูกสงบอารมณ์ลงให้ได้ก่อน เพราะการถามหรือต่อว่าในเวลาที่ลูกกำลังโกรธ จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เมื่อลูกสงบลงแล้วเราค่อยคุยกับลูก รับฟังสิ่งที่ลูกคิดหรือรู้สึก และลองขอความเห็นจากลูกว่าเขาจะทำอย่างไร ก็จะช่วยให้ลูกใจเย็นและรับมือการความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น

สอนลูกให้รู้จักการเป็นผู้ให้

พ่อแม่ต้องสร้างประสบการณ์การให้แก่ลูก โดยการพูดคุยให้ลูกเห็นถึงประโยชน์ของการให้ บางครั้งการที่ลูกทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ให้เรา อย่างมาช่วยทำความสะอาดก็สามารถสอนเรื่องการให้ได้นะคะ คือ นอกจากเราจะชมลูกว่าเป็นเด็กดีมาก เราก็ใช้โอกาสนี้ในการอธิบายว่าการกระทำของเขาส่งผลดีอย่างไร เช่น หนูมาช่วยแม่ทำความสะอาดแบบนี้ ทำให้แม่สบายขึ้น และเหนื่อยน้อยลง แม่ภูมิใจในตัวหนูมากเลย เป็นต้น เราต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าการเป็นผู้ให้ก็สร้างความสุข และทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกดีๆ ขึ้นได้เช่นกัน

สอนให้ลูกรู้จักเคารพผู้อื่นและตัวเอง

การเคารพผู้อื่นคือการยอมรับในความแตกต่าง พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่าคนทุกคนมีความแตกต่างกัน โดยเริ่มจากการเปิดโอกาสให้ลูกพูดคุย แสดงความคิดเห็นในสิ่งที่ลูกอยากทำ และให้ลูกได้ตัดสินใจ นอกจากนี้การสอนให้ลูกเคารพในตัวเองคือ สอนให้ลูกเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าของตัวเอง ซึ่งการที่พ่อแม่ ยอมรับในความคิดและตัวตนของลูกว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ไม่ยัดเยียดว่าลูกจะต้องเป็นแบบนั้นหรือแบบนี้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานที่ทำให้ลูกเชื่อมั่นและเคารพในตัวเอง จะส่งผลให้ลูกรู้จักเคารพผู้อื่นได้เช่นกัน

สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของสิ่งของรอบตัว

เด็กที่รู้จักคุณค่าของสิ่งของรอบตัว จะทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของสิ่งต่างๆ โดยอาจเริ่มจากการไม่ให้ของลูกง่ายเกินไป ให้ลูกรู้จักใช้ความพยายามในการที่จะได้ของชิ้นนั้นมา อย่างเช่น เราอาจจะมีการให้ลูกสะสมดาว จากการทำสิ่งต่างๆ เช่น สามารถกินข้าวได้เอง เข้าห้องน้ำได้เอง เราก็ให้ดาว เมื่อมีดาวครบตามจำนวนที่กำหนด ลูกก็จะได้สิ่งที่เขาอยากได้ ก็จะทำให้เขารู้สึกว่าต้องทะนุถนอมของชิ้นนี้เพราะได้มายาก ซึ่งการที่สอนให้ลูกรู้คุณค่าของสิ่งของที่เริ่มจากของใกล้ตัว ก็จะส่งผลให้เมื่อลูกโตขึ้น เขาจะตระหนักและเรียนรู้ได้ว่า สิ่งของต่างๆ รอบตัวนั้นมีคุณค่านั่นเอง

พ่อแม่ควรพูดจาดีต่อกัน ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก

เมื่อพ่อแม่ทะเลาะกันแล้วใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง รวมไปถึงมาทะเลาะกันให้ลูกเห็น นอกจากจะเป็นการกระทบกระเทือนจิตใจของลูกแล้ว จะทำให้ลูกซึมซับการแก้ปัญหาด้วยการใช้อารมณ์และเลียนแบบในสิ่งที่พ่อแม่ทำ ทั้งการตะคอก ทำร้ายร่างกาย และขว้างข้าวของ ซึ่งการที่เด็กได้เห็นภาพแบบนั้นบ่อยเข้า ก็จะกลายเป็นแผลในจิตใจ และส่งผลต่อลักษณะนิสัย บุคลิกภาพที่ผิดปกติเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เช่น มองโลกในแง่ร้าย การเลียนแบบพฤติกรรมอารมณ์รุนแรงของพ่อแม่

พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก

แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญในการปลูกฝังให้ลูกเป็นคนอ่อนโยนคือตัวของพ่อแม่เพราะพ่อแม่เป็นเหมือนไอดอลของลูก เมื่อเห็นเราทำอะไร ลูกก็อยากที่จะทำตามหรืออยากจะเป็นบ้าง ดังนั้นการเป็นตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใดค่ะ