Parents One

5 วิธีดูว่าลูกถูกทำร้ายจากคุณครู (หรือใคร) ที่โรงเรียนรึเปล่า พร้อมวิธีรับมือ

ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าเรื่องเด็กถูกทำร้ายทั้งจากคุณครูและคนรอบตัวพบเห็นได้บ่อยมาก จนทำให้คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่น้อย โดยปกติแล้วถ้าเป็นเด็กโตก็อาจจะมีการมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เราฟัง แต่กับเด็กเล็กที่ยังไม่รู้เรื่อง คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะมาบอกหรือเล่าให้เราเข้าใจ ดังนั้นเราคงต้องสังเกตลูกให้มากขึ้นกว่าเดิม วันนี้เราจึงมีวิธีดูว่าลูกถูกทำร้ายหรือไม่ พร้อมกับวิธีรับมือถ้าลูกถูกทำร้ายมาฝากค่ะ

1. ลูกมีอาการผวา ไม่อยากไปโรงเรียน

โดยปกติแล้ว เด็กวัย 3 ขวบหรือวัยที่กำลังเข้าโรงเรียน มักจะกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่แล้วไม่อยากไปโรงเรียน (separation​ anxiety)​ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในเด็กวัยนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแยกให้ออกว่า การที่ลูกไม่อยากไปโรงเรียนเป็นเพราะมีสาเหตุอื่นรึเปล่า 

ซึ่งเด็กที่ถูกทำร้ายจนหวาดกลัวการไปโรงเรียนนั้น ไม่ว่าเราจะกอด ปลอบหรือบังคับลูกก็ยังคงไม่อยากไป เขาจะหวาดกลัว จนกระทั่งกลับมาถึงบ้านหรือเราไปรับก็ยังคงมีการหวาดกลัวให้เห็น รวมไปถึงเริ่มกลัวอะไรแปลกๆ เช่น กลัวการเข้าห้องน้ำ กลัวเสียงดัง หรือผวาง่ายกว่าปกติ  

 

2. ลูกมีสภาพร่างกายไม่เรียบร้อย เช่น มีรอยแผล คราบอ้วก

สิ่งที่สังเกตได้ชัดหากลูกถูกทำร้ายร่างกายคือสภาพร่างกายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ามีรอยยับในจุดที่ไม่ควรจะยับ เช่น เขนเสื้อส่วนบน (อาจเกิดจากการกระชากแขน) คอปกเสื้อด้านหลัง (อาจเกิดจากการกระชากคอเสื้อให้ลุกขึ้น) หรือที่เห็นได้ชัดเจนกว่านั้นก็คือรอยแผลหรือรอยเขียวช้ำตามตัว ควรจะดูหลังหูด้วยเพราะบางทีลูกอาจจะถูกหยิกตรงส่วนั้นได้ รวมไปถึงคราบต่างๆ ที่อาจติดบนเสื้อผ้าอย่างคราบอ้วกหรือคราบฉี่

 

3. ลูกมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น โมโหร้าย หิวข้าวมากๆ หรืออั้นฉี่ 

พฤติกรรมของลูกที่เปลี่ยนแปลงไป อาจเป็นสัญญาณหนึ่งว่าเขากำลังโดนกระทำบางอย่าง อย่างเช่น ปกติลูกเป็นคนร่าเริง สุภาพ ไม่เคยทำร้ายใคร แต่ถ้ามาวันหนึ่งจู่ๆ ลูกก็มีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น รุนแรง ให้ความรุนแรงกับพ่อแม่ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังเลียนแบบอะไรบางอย่างจากสิ่งหรือเห็นหรือสิ่งที่โดนกระทำก็ได้

นอกจากนี้บางพฤติกรรมอย่างเช่น เมื่อเจอเราก็ร้องหิวทั้งๆ ที่ยังเป็นช่วงบ่าย อาจคอยสังเกตดูว่าลูกทานไม่อิ่มหรือคุณครูรีบเก็บถาดอาหารรึเปล่า หรือลูกอั้นฉี่ พอพาไปฉี่ก็ฉี่เยอะมากๆ นั่นอาจหมายถึงลูกถูกห้ามไม่ให้ไปเข้าห้องน้ำ ถ้าไปเข้าก็อาจโดนลงโทษ จนไม่กล้าเข้าห้องน้ำที่โรงเรียนก็ได้

 

4. ลูกนอนไม่หลับหรือฝันร้าย

เรื่องการนอนเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับเด็กมากๆ เพราะการนอนหลับอย่างเพียงพอจะช่วยให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ซึ่งเด็กๆ บางคนอาจไม่ยอมนอน แต่ถ้าเรากล่อมก็จะหลับเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าอยู่ดีๆ ลูกเกิดอาการไม่ยอมนอน นอนไม่หลับ ไม่ว่าเราจะกล่อม เล่านิทาน หรือปลอบประโลมมากแค่ไหนก็ไม่ยอมนอน พร้อมมีอาการซึม รวมไปถึงถ้าได้นอนแล้ว แต่กลับมีอาการฝันร้าย ซึ่งเป็นฝันที่เกี่ยวกับเรื่องร้ายๆ ในโรงเรียน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนหนึ่งว่าลูกอาจโดนทำร้ายค่ะ

 

5. ลูกไม่กล้าเล่าถึงเรื่องที่โรงเรียน

ลูกเริ่มเงียบผิดปกติ จากเดิมที่เคยเป็นเด็กร่าเริง ชอบเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนให้ฟัง ก็เริ่มซึมลง เมื่อถามก็มักจะไม่ยอมบอก หรืออาจพูดว่าคุณครูไม่ให้บอก เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกทำร้าย 

 

วิธีพูดคุยกับลูกเมื่อสงสัยว่าลูกถูกทำร้าย

คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยประโยคปลายเปิด เพื่อให้ลูกอธิบายและเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในวันนี้ เช่น ไปโรงเรียนวันนี้เป็นยังไงบ้าง ครูสอนเรื่องอะไร วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เล่ยอะไรกับเพื่อนบ้าง ครูทำอะไรหนูบ้างไหม เพราะเด็กเล็กจะยังไม่สามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งที่เขาถูกกระทำคือการทำร้าย เขาจึงไม่สามารถเล่าเรื่องราวทั้งหมดได้ ใช้ภาษาไม่ถูก เล่าได้แต่ปะติดปะต่อ 

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจต้องพยายามคุยกับลูกให้มาก คุยทุกวันจนเป็นนิสัย อาจมีการสร้างบทบาทสมมติให้ลูกลองเล่นเป็นคุณครู แล้วคุณพ่อคุณแม่รับบทเป็นนักเรียน เพื่อดูว่าลูกได้จดจำพฤติกรรมแบบไหนของคุณครูมาบ้าง วิธีนี้ก็จะช่วยให้เรารับรู้ความเป็นไปของลูกได้เป็นอย่างดี 

และถ้ามั่นใจแล้วว่าลูกถูกทำร้ายแน่นอน คุณพ่อคุณแม่ต้องปกป้องและทำให้ลูกมั่นใจว่า พ่อแม่จะทำให้เขาปลอดภัย ไม่บังคับลูกไปโรงเรียนถ้าเรื่องที่เขาถูกทำร้ายยังไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องรีบดำเนินการเรื่องนี้กับโรงเรียนอย่างเร็วที่สุด เพราะลูกของเราอาจไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกทำร้ายก็ได้ ถ้าเป้นไปได้ก้ควรมีการสร้างไลน์กลุ่มหรือรู้จักกับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้นจะได้ร่วมมือกันแก้ไข และปกป้องลูกของเราค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง