Parents One

How To โพสต์รูปลูกในโซเชียลอย่างไร? ไม่ให้กลายเป็น Sharenting เรื่องน่าอายของลูกในอนาคต

เคยไหมคะ ที่หลายครั้งพ่อแม่อย่างเราก็อยากลงรูปลูกสุดน่ารักบ้าง แต่ก็เกิดความเอ๊ะ! ขึ้นมาในใจว่า จะลงดีไหมนะ เพราะกลัวว่าอาจจะเจอมิจฉาชีพในโลกออนไลน์รึเปล่า จนสุดท้ายต้องมาจบตรงที่งั้นไม่ลงดีกว่า 5555

อยากจะบอกว่า ปัญหานี้ไม่ใช่แค่คุณคนเดียวที่รู้สึกแบบนั้นแน่นอน เพราะว่ายังมีคุณพ่อคุณแม่อีกหลายคนที่เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของลูกน้อย เมื่อพวกเขาโตขึ้น โดยเฉพาะเรื่องภาพถ่ายยิ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรตระหนัก และคิดให้รอบคอบก่อนจะโพสต์ลงสื่อโซเชียลด้วยนะคะ เพราะนั่นอาจถือเป็นดาบ 2 คมได้เช่นกัน

ซึ่งปัญหากวนใจเหล่านี้จะหมดไป หากคุณพ่อคุณแม่ได้ทำตามกฎในการลงรูปลูกในสื่อโซเชียลอย่างไร? ให้ปลอดภัยที่ Parents One นำมาบอกในวันนี้นั่นเองค่ะ รับรองว่าปลอดภัย สบายใจ หายห่วงแน่นอน

1. ถาม และขออนุญาตลูกก่อนจะโพสต์รูปทุกครั้ง

การโพสต์รูป โดยเฉพาะรูปลูกถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลประเภทหนึ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่อย่างเราต้องเคารพและให้ความเป็นส่วนตัวแก่ลูก เพราะบางครั้งลูกก็ไม่ชอบให้พ่อแม่นำรูปของตัวเองไปโพสต์ลงในสื่อโซเชียลสักเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ซึ่งเรื่องเล็กๆ เหล่านี้แหละที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวในอนาคตได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากให้การลงรูปกลายเป็นปัญหาใหญ่ แนะนำว่า ควรถาม และขออนุญาตลูกก่อนจะโพสต์รูปที่มีลูกทุกครั้ง ถึงแม้ว่า ลูกอาจจะยังเป็นเด็กทารก ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร แต่ก็ควรเลือกรูปที่เหมาะสม โดยนึกถึงจิตใจของลูกเป็นอันดับแรก เมื่อพวกเขาโตขึ้นแล้วมาเห็นภาพนี้ พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? และบอกกล่าวกับลูกเหมือนกับเด็กโต เพื่อเซฟทั้งข้อมูล จิตใจ และความปลอดภัยของคนในครอบครัว

เราจึงอยากให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญของการถามก่อนลงรูปลูกทุกครั้ง ไม่ว่าพวกเขาจะเด็กแค่ไหนก็ตาม เพื่อเคารพสิทธิพื้นฐานที่พวกเขาควรจะได้รับนั่นเอง

 

2. ปิดการแชร์ Location

คุณพ่อคุณแม่คนไหนที่เป็นนักแท็กตัวยง ต้องมาฟังทางนี้เลยค่ะ

การแท็กสถานที่ และการลงรูปภาพแบบเรียลไทม์ (ถ่ายปุ๊บ ลงปั๊บ) นั้น สามารถทำให้มิจฉาชีพมีโอกาสรู้ว่าลูกของเรากำลังทำอะไร หรือรู้สถานที่ว่าอยู่ที่ไหน ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อันตรายอย่างมาก และมีโอกาสให้มิจฉาชีพลักพาตัวเด็กได้ง่ายๆ

เพราะฉะนั้น ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะลงโพสต์อะไรในโซเชียลที่เกี่ยวกับลูกน้อย ก็ไม่ควรแท็กสถานที่เลยจะเป็นอันดีที่สุด หรืออาจจะลงภาพที่ผ่านมาเมื่อวานแล้วก็ได้เช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพรู้เท่าทันการใช้ชีวิตประจำกันนั่นเองค่ะ

 

3. ตั้งค่าให้เห็นเฉพาะกลุ่ม

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มองว่าลูกของเราเป็นเด็กน่ารัก

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรตั้งรูปภาพลูกเป็นโพสต์สาธารณะ แต่ให้เลือกการตั้งค่าเป็นแบบส่วนตัว หรือเห็นเฉพาะเพื่อนเราเท่านั้น เพื่อให้มีความเป็นส่วนตัว และสร้างความปลอดภัย เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในโลกออนไลน์ใครบ้างที่หวังดีกับเรา ดังนั้น เราจึงควรสร้างความปลอดภัยให้กับลูกก่อนเป็นอันดับแรกนั่นเองค่ะ

 

4. เลือกรูปที่ลูกจะไม่รู้สึกอับอาย เมื่อเขาโตขึ้นแล้วมาเห็น

คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจคิดว่า โมเมนต์ของลูกที่ดูตลกๆ นั้นช่างน่ารักเสียเหลือเกิน จนอดไม่ได้ที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียให้ทุกคนได้รู้

แต่รู้หรือไม่คะว่า คุณอาจจะละเมิดสิทธิของลูกอยู่ก็ได้นะ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ในอนาคตเมื่อพวกเขาโตขึ้น แล้วดันมาเห็นรูปที่คุณพ่อคุณแม่โพสต์ลงสื่อออนไลน์ พวกเขาจะรู้สึกดี ขำ หรือตลก เหมือนที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกอยู่รึเปล่า หรือไม่ก็อาจจะกำลังรู้สึกอับอายที่คุณพ่อคุณแม่นำรูปของเขาไปโพสต์ให้ทุกคนรับรู้ได้เช่นกัน

เพราะฉะนั้น ใจเขาใจเราค่ะ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกรูปที่เหมาะสม โดยนึกถึงความรู้สึกของลูกเป็นอันดับแรกก่อนจะโพสต์ลงนั่นเอง ไม่ใช่จะนึกถึงแต่ยอด Like ยอด Share อย่างเดียวนะเออ เพราะความรู้สึกของลูกต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกค่ะ

 

5. เลือกรูปลูกที่ใส่เสื้อผ้าปิดมิดชิด ไม่โป๊เปลือย

ไม่รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เคยได้ยินชื่อ “โรคใคร่เด็ก” กันมาบ้างรึเปล่าเอ่ย?

โดยโรคนี้เป็นโรคที่น่ากลัวมากๆ เลยนะคะ เพราะมันคืออาการทางจิตชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกทางเพศกับเด็ก และมักจะเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่า 13 ปี พฤติกรรมของโรคนี้จะไม่ใช่การแสดงความรักแบบเมตตาเด็ก แต่เป็นความปรารถนาจะมีสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กที่อายุน้อยกว่าตน หรือเรียกว่าเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั่นเอง โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้ชายนั่นเอง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าลูกเราจะเป็นเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชาย ก็ควรทำให้ตัวเองปลอดภัยไว้ก่อน โดยการให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าที่ปิดมิดชิด ไม่โป๊เปลือยไปยังสถานที่ต่างๆ รวมทั้ง ภาพถ่ายก็ควรเป็นมุมที่ลูกน่ารัก ไม่มีมุมล่อเเหลม หรือแต่งตัวแบบโชว์เนื้อหนังด้วยนั่นเอง กันไว้ก่อนก็ดีกว่าต้องมานั่งแก้ใช่ไหมล่ะ

 

6. เลือกรูปที่ไม่มีข้อมูลส่วนตัว รถ และโรงเรียนลูก

ข้อนี้ขอยกให้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจมองข้าม นั่นก็คือ รูปภาพที่เราจะโพสต์ลงในสื่อออนไลน์นั้น ควรเป็นภาพที่ไม่มีข้อมูลส่วนตัวใดๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัวเราอยู่ในภาพเลย โดยเฉพาะ บัตรประชาชน ทะเบียนรถ หรือแม้กระทั่งชุดนักเรียนที่มีชื่อโรงเรียนของลูกปักอยู่

เพราะจะทำให้มิจฉาชีพนั้นรู้ว่าลูกเราอยู่โรงเรียนไหน ใช้รถอะไร รวมถึงสามารถรู้ที่อยู่บ้านได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเสี่ยงทำให้ลูกและครอบครัวตกอยู่ในอันตรายของโจรได้นั่นเอง เนื่องจาก ในปัจจุบันเราสามารถค้นหาทุกอย่างได้ใน Google สะดวกและรวดเร็วนั่นเอง

 

7. Caption ใต้ภาพ ควรเหมาะสม และไม่มีคำหยาบคาย

คำบรรยายใต้ภาพของลูกน้อย หรือ Caption ควรมีความเหมาะสม และไม่มีคำหยาบคายใดๆ ที่ไม่เหมาะสมต่อเด็ก อาจเป็นการบรรยายแบบน่ารักๆ เช่น “เจ้าลูกน้อยของแม่ โตขึ้นอีกแล้วสินะ” “แค่ดูก็รู้แล้วว่าลูกเหมือนใคร” เป็นต้น เผื่อในอนาคตลูกกลับมาดูบันทึกความความทรงจำ จะได้รู้ว่าพ่อกับแม่รักเขามากแค่ไหนนั่นเอง