Parents One

เมื่อลูกเป็นเพศทางเลือก คุณพ่อคุณแม่ต้องทำอย่างไร

เมื่อลูกเป็นในสิ่งที่ไม่ตรงกับเพศสภาพที่เกิดมา คงทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความสับสนว่าควรทำอย่างไรต่อไปดีในอนาคตของเขา

กังวลว่าลูกจะอยู่ในสังคมลำบาก กลัวว่าแบบนี้จะเข้าข่ายการเป็นโรคทางจิตเวช และที่น่าห่วงที่สุดคือลูกไม่เป็นที่ยอมรับจากเพื่อน, ญาติพี่น้องหรือบางครั้ง หนึ่งในผู้ปกครองเองก็ยังทำใจรับได้ลำบาก

ไม่รู้จะทำอย่างไรดี

เราจะมาทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องเพศทางเลือกไปด้วยกันนะคะ

เพศทางเลือกคืออะไร?

เพศทางเลือกหมายถึงกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างออกไปจากคนส่วนมากในสังคม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงชายและหญิงแต่ยังมีเพศอื่นอีกมากเป็นทางเลือกให้ได้เป็น ซึ่งความหลากหลายเรื่องเพศนั้นจะแบ่งออกได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ

ความหลากหลายทางอัตลักษณ์

เกิดจากความรู้สึกที่จิตใจไม่ตรงกับเพศสภาพที่เกิดมาอาทิ เพศสภาพเป็นชาย แต่มีใจที่เป็นหญิง หรือเพศสภาพเป็นหญิงแต่จิตใจเป็นชาย อย่างที่เราจะเห็นได้บ่อยคือเพศที่สาม กะเทย, ทอม

ความหลากหลายทางรสนิยมทางเพศ

ในเรื่องการเลือกชอบคนที่ชอบนั้นสามารถแบ่งความชื่นชอบออกได้เป็น ในเพศเดียวกัน , เพศตรงกันข้าม , ชอบทั้ง 2 เพศหรืออาจไม่ได้รู้สึกพิเศษเลยกับทั้ง 2 เพศ อาทิ เกย์, เลสเบี้ยน, ไบเซกชวลหรือไม่ฝักใฝ่ทางเพศเลยไม่ว่ากับเพศไหน

ซึ่งปัจจุบันที่สังคมนั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา การเป็นเพศทางเลือกเริ่มเป็นที่ถูกยอมรับอย่างสากลรวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิให้เกิดความเท่าเทียมเองก็เริ่มมีผลในวงกว้างขึ้นแล้ว ไม่ได้น่ากลัวหรือกังวลอย่างที่เคยเป็นมาในอดีตแบบที่คุณพ่อคุณแม่หลายท่านรับรู้ข่าวสาร หรือการกีดกันแบบที่ผ่านมา เพราะทุกชีวิตนั้นล้วนมีค่าในแบบของตนเอง ไม่จำเป็นต้องตั้งกรอบหรือเส้นแบ่งใดๆ เพื่อลดคุณค่าของบุคคลนั้นลง

การเป็นเพศทางเลือก เกิดขึ้นได้จากอะไรบ้าง?

แน่นอนว่าแม้จะรับรู้ได้ว่าลูกหรือเทวดา/นางฟ้าของบ้าน มีความสนใจจะเป็นเพศทางเลือก คุณพ่อคุณแม่ก็มักจะต้องการรู้ถึงสาเหตุว่าเพราะอะไรกันนะถึงเกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งสิ่งเร้าหรือสิ่งที่ทำให้เกิดทางเลือกนี้ขึ้นได้แก่

  1. ทางชีวภาพ เกิดจากการที่ร่างกายมีฮอร์โมนหรือพันธุกรรมที่แตกต่างไปจากคนส่วนมาก จึงทำให้มีความรู้สึกหรือตอบสนองกับสิ่งที่แตกต่างออกไปจากเพศสภาพที่เกิดมา ลักษณะนี้จะสังเกตเห็นเองได้ตั้งแต่ช่วงอายุน้อย
  2. ทางการเลี้ยงดู บางครั้งเด็กอาจใช้เวลาอยู่กับเพศใดเพศหนึ่งมาก จนทำให้เกิดการซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมตัวอย่างมาโดยไม่รู้ตัว
  3. ทางสภาพแวดล้อม การรับสื่อต่างๆเองก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เด็กได้ซึมซับพฤติกรรมที่แตกต่างแล้วก่อเกิดเป็นความชื่นชอบส่วนตนและพัฒนามาจนเป็นแนวทางพฤติกรรมจริงในชีวิต

 

เพศทางเลือกถือว่าเป็นโรคที่ต้องแก้ไขจริงเหรอ?

เมื่อมีลูกสักคนเป็นเพศทางเลือกในบ้าน ความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มเกิดขึ้นด้วยความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความกลัวที่ลูกจะไม่มีพื้นที่ในสังคม , กลัวจะไม่มีผู้สืบสกุลรึแม้แต่ความเชื่อในเรื่องศาสนาว่าการชอบในสิ่งที่ไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิดนั้นคือเรื่องผิดบาปเอง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความวิตกเหล่านี้ขึ้น

ซึ่งในความจริงแล้ว การเป็นเพศทางเลือกไม่ใช่เรื่องน่าหวาดวิตกหรือเป็นโรคทางจิตอย่างที่เคยเข้าใจกันมาตั้งแต่ในอดีต เป็นเพียงอีกหนึ่งทางเลือกในการเติบโตของชีวิตหนึ่งชีวิตที่ต้องการเลือกจะเป็นหรือเดินไปเสียมากกว่า

ไม่ใช่โรคร้ายที่สามารถติดต่อกันได้, ไม่ใช่โรคทางจิตที่ต้องรีบทำการบำบัดหรือรักษาให้หาย ในทางกลับกันการพบจิตแพทย์ เป็นหนึ่งในหนทางในการทำความเข้าใจตัวตนของลูกมากกว่าเป็นการเปลี่ยนกลับให้มาเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนแท้ๆ ของตัวเด็กเอง

หากลูกเป็นเพศทางเลือก ควรทำอย่างไร?

สิ่งหนึ่งที่สำคัญของคนเป็นพ่อแม่ คือห่วงใยและเข้าอกเข้าใจตัวตนของลูกที่สุด ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร เลือกหนทางไหน ก็ต้องสนับสนุนเขาไปให้ถึงที่สุดถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สร้างความเดือดร้อนหรือทำให้ใครลำบาก แม้จะทำใจได้ยากหรืออาจตั้งรับไม่ทันก็มีวิธีคิดที่จะช่วยให้การปรับตัวง่ายขึ้น

  1. ยอมรับตัวตนของลูกเพราะเขาคือลูกที่เรารักและเข้าฟูมฟักมาตั้งแต่เล็ก
  2. เรียนรู้สิ่งที่ลูกต้องการที่จะเป็น, ต้องการใช้ชีวิตเพื่อเข้าใจตัวตนของลูกมากกว่าที่เคยเป็น
  3. คิดอยู่เสมอว่าลูกมีความรักความชอบที่แสนพิเศษไม่เหมือนใคร เขาไม่ใช่เด็กที่แปลกแยกหรือแตกต่าง แต่เป็นของขวัญชิ้นเดียวบนโลกที่ไม่มีใครเหมือน
  4. กอดและรักลูกให้ได้เหมือนวันแรกที่ได้โอบอุ้มและทุ่มใจให้เขาตอนลืมตาดูโลก

 

ที่มา : bangkokhospital , motherandcare , rajanukulmotherandchild