Parents One

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้กลายเป็นเด็กหัวโจก

จากสถานการณ์เรื่องของการทำร้ายร่างกายในโรงเรียนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลายเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลและไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมไม่อยากให้ลูกตัวเองถูกทำร้าย และคงไม่อยากให้ลูกไปทำร้ายใครเช่นเดียวกัน แต่เราจะรู้ได้ยังไงว่าลูกของเราอาจกลายเป็นฝ่ายที่ทำร้ายคนอื่นอยู่รึเปล่า ดังนั้นวันนี้เราจึงจะมาเล่าถึงในมุมที่ว่า พ่อแม่ควรจะเลี้ยงลูกอย่างไร ไม่ให้ลูกกลายเป็นเด็กหัวโจก หรือไปทำร้ายร่างกายคนอื่นค่ะ

ใส่ใจลูกให้มาก

การเลี้ยงดูคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างให้เด็กคนหนึ่งเติบโตขึ้นมา โดยส่วนใหญ่เด็กที่เป็นหัวโจกนั้น เมื่อมองลึกเข้าไป จะพบว่าการที่เขาทำร้ายคนอื่นเป็นเพราะคิดว่าการทำแบบนั้นจะทำให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน มีความโดดเด่นกว่าคนอื่น เดินไปทางไหนก็มีคนให้ความสนใจ ซึ่งนั่นอาจเกิดจากการที่เขารู้สึก “ขาด” จึงอยากได้รับการเติมเต็มจากเพื่อน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรให้เวลาคุณภาพ ใส่ใจเขาให้มาก ให้ลูกรู้สึกว่าบนโลกนี้มีคนสองคนที่มอบความรัก ความปรานาดีให้แก่เขาจนเต็ม จนเขาไม่ต้องไปแสดงออกด้วยความก้าวร้าวแบบนั้น

อย่าตามใจลูกมากเกินไป

การตามใจตลอดเวลาไม่ใช่วิธีในการแสดงความรัก หรือความปรารถนาดีที่มีต่อลูกขนาดนั้น เพราะนั่นอาจทำให้ลูกเรียนรู้ว่าไม่ว่าเขาจะทำอะไร พ่อแม่ก็ตามใจอยู่แล้ว ไม่เคยขัดใจแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ตาม เช่น ลูกอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่ ทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อไปให้เมื่อวานก่อน ก็ยอมซื้อให้ พอเป็นแบบนี้หลายๆ เรื่องเข้า ลูกก็จดจำว่าไม่ว่าสิ่งใดที่เขาต้องการ พ่อแม่ก็จะไปหามาให้ และจะติดนิสัยเอาตัวเองเป็นใหญ่ ใครก็ขัดใจไม่ได้ เพราะขนาดพ่อแม่ยังไม่เคยขัดใจเขาได้เลย

ไม่ควรเข้าข้างลูกในทุกเรื่อง

“ลูกฉันเป็นคนดี” เวลาที่เราอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหรือคนที่กระทำความผิด เรามักจะได้ยินคำให้สัมภาษณ์จากพ่อแม่ของผู้ทำผิดแบบนี้บ่อยๆ ใช่ไหมคะ เพราะบางทีเรามักจะเห็นลูกแค่ด้านเดียวแต่ไม่เคยรู้ว่าเมื่ออยู่นอกบ้านลูกมีพฤติกรรมที่ไม่ดีขนาดไหนหรือถึงแม้จะรู้ก็เลือกที่จะปิดหูปิดตา มองแต่ด้านดีของลูกจนมองข้ามสิ่งที่ลูกทำผิดอย่างร้ายแรงไป โดยไม่ได้มองอย่างรอบด้านว่าสิ่งที่เขาทำผิดนั้นส่งผลกระทบต่อคนในสังคมขนาดไหน เพียงเพราะคนๆ นี้เป็นลูกของเรา

แต่หน้าที่ของพ่อแม่คือการอบรมสั่งสอนลูกให้รู้ผิดชอบชั่วดี ดังนั้นหากเรารู้ว่าลูกทำผิด หรือสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ควรเข้าข้าง อะไรที่เขาทำผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ยิ่งเราสามารถแก้พฤติกรรมที่ไม่ดีของลูกได้ตั้งแต่ยังเล็ก ก็ยิ่งส่งผลดีต่อเขาในอนาคต

เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของลูก

เมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียน ก็ย่อมเกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องพฤติกรรมและความคิดจากคนในสังคมนั้นๆ และยิ่งลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ลูกอยากเป็นตัวของตัวเอง เริ่มสนใจเรื่องต่างๆ ที่อาจจะแตกต่างจากตอนเด็กๆ อาจมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย ไม่ค่อยฟังพ่อแม่ นั่นถือเป็นบททดสอบสำคัญที่พ่อแม่จะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเข้าใจลูกให้ได้มากที่สุด หากตอนเด็กๆ ปูพื้นฐานเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวมาดีพอ ตรงจุดนี้ก็ไม่มีอะไรที่น่ากังวลเท่าไหร่ค่ะ

เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก

“ลูกคือเงาสะท้อนของพ่อแม่” พ่อแม่เป็นอย่างไร ลูกก็จะเป็นอย่างนั้น นี่เป็นคำกล่าวที่ไม่ปิดเท่าไหร่นัก เพราะพฤติกรรมของเด็กเกิดขึ้นจากการเลียนแบบ การที่เขาเห็นพฤติกรรมอะไรซ้ำๆ ก็ย่อมคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่ถูก เช่น พ่อแม่ชอบพูดคำหยาบใส่กัน ลูกก็จะติดนิสัยพูดคำหยาบ หรือมีนิสัยพอทะเลาะกันก็ชอบทำร้ายร่างกาย ลูกก็จะจดจำว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ ทีนี้ไม่ว่าพ่อแม่จะพูดหรือสอนยังไงก็ไม่มีผลเสียแล้ว เพราะสิ่งที่พ่อแม่ทำเป้นสิ่งที่สวนทางกับคำพูดที่พร่ำสอนเหลือเกิน

สภาพแวดล้อมทางสังคมมีผลอย่างมาก

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กไม่ใช่น้อยเลย เพราะถึงแม้ว่าเราจะเลี้ยงดูลูกมาอย่างดี แต่ถ้ามีปัญหาทางสังคมเกิดขึ้นรุนแรง หรือลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อยๆ หล่อหลอมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ก็มีโอกาสที่ลูกจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเพื่อนหรือคนในสังคมนั้นๆ ได้