Parents One

เมื่อลูกชอบต่อต้าน จะรับมืออย่างไรกับพัฒนาการ Negativism

คุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน ต้องเคยเจอกันมาเกือบทุกคน กับภาวะ Negativism หรือที่เราเรียกกันว่าการต่อต้านค่ะ ซึ่งตัวอย่างง่ายๆ ของการต่อต้านก็คือการที่ลูกจะปฏิเสธทุกอย่างที่เราถามหรือพูดคุยด้วย แม้จะไม่ได้คิดแบบนั้น แต่ก็จะพูดไว้ก่อน อาทิ

เราบอกลูกกินข้าว ลูกตอบว่า ไม่หิว! แต่จริงๆ แล้วหิวมาก

เราบอกลูกอาบน้ำ ลูกตอบว่า ไม่อาบ! แต่จริงๆ แล้วอยากเข้าไปเล่นกับคุณเป็ดในอ่างน้ำ

เราบอกลูกไปบ้างนอกกัน ลูกตอบว่า ไม่ไป! แต่จริงๆ อยากตามไปด้วย

เมื่อเจอแบบนี้บ่อยๆ เข้า เราก็จะเริ่มไม่เข้าใจลูกแล้วว่า นี่ลูกต้องการอะไร ทำไมถึงต้องคอยพูดสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ต้องการตลอด หรือลูกกำลังเล่นสนุกอะไรอยู่ เราควรเตือนหรือดุเขาแรงๆ ไหมว่าไม่ควรทำแบบนี้ เพราะถ้าให้ทำกับพ่อแม่ไปในระยะยาวๆ แล้วละก็ คงมีซักคนไม่พ่อก็แม่นี่แหละที่ต้องเผลอดุ หรือทำโทษแรงๆ เวลาที่ลูกพูดไม่ตรงกับใจ และต้องให้พ่อแม่มาตามแก้ทีหลัง

ดังนั้น เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าจะรับมืออย่างไรดี เมื่อลูกชอบต่อต้านไปงั้นเอง ไม่ได้มีนัยยะอะไรสำคัญ

ทำความเข้าใจกับพัฒนาการ Negativism

ในช่วงวัย 1-3 ปีของลูกนั้น เป็นวัยที่กำลังพัฒนาหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือความคิดซึ่งในช่วงนี้เอง การพัฒนการด้านการเป็นตัวของตัวเอง หรือการสร้างตัวตนก็เป็นอีกหนึ่งพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอกับพัฒนาการ Negativism หรือที่เราเรียกกันว่า วัยต่อต้าน เป็นช่วงที่ลูกจะรู้จักการคิดเอง เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ชอบตั้งคำถาม ทำให้หลายครั้ง พ่อแม่จะต้องเจอกับการพูดว่า ไม่ ไม่เอา ไม่ทำ ไม่กิน ไม่อาบ ไม่ไป ไม่ชอบ ไม่หิว ไม่เล่น ไม่แปรง ไม่เก็บ

พูดไม่ กับมันเสียทุกอย่างจนไม่รู้แล้วว่า อันไหนจริง อันไหนไม่จริง และบางครั้งลูกก็มีท่าทางสนุกสนานกับการได้ทำแบบนี้ ยิ่งทำให้เราเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่จนอยากตีซักทีให้หยุด

แต่พัฒนการในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติเกินไป เพราะมันคือช่วงของการพัฒนาสมองให้เด็กรู้จักที่จะตั้งคำถาม และเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง บางครั้งเขาอาจอยากแค่ถามว่า ทำไมเขาถึงต้องทำ หรือทำไมจึงเป็นเขา แต่ด้วยภาษาที่ลูกอาจจะยังพูดเป็นประโยคยาวๆ ไม่ได้ หรือมีคลังศัพท์น้อยเกินไป คำง่ายๆ อย่างคำว่า ไม่ จึงถูกพูดขึ้นมาใช้เกือบทุกสถานการณ์

เราจึงรู้สึกว่ามีอะไรที่ลูกเขาอยากพูด จะต้องมีคำว่า ไม่มานำตลอด

ดังนั้นการต่อต้านของลูก ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือร้ายแรงอย่างที่คิดในช่วงวัย 1-3 ขวบ เราจึงมาหาทางรับมือกับช่วงวัยของเขา มากกว่าการงโทษซึ่งวิธีในการรับมือจะมีอะไรบ้างนั้น ดูได้ในภาพถัดไปเลยค่ะ

 

วิธีรับมือแบบที่ 1

ไม่บังคับ แต่ ให้ทางเลือก

เวลาที่ลูกไม่ยอมทำตามที่เราบอกแต่เลือกจะเฉไฉด้วยคำว่า ไม่ หรือมีอาการต่อต้านกับสิ่งที่เราบอกให้ทำอย่างเก็บของเล่น ไปแปรงฟัน ให้เปลี่ยนวิธีจากการบอกว่า ต้องทำ ต้องฟังเรา ไม่ทำเราจะทำโทษนะ ให้เป็นการพูดแบบมีทางเลือกให้ลูกแทน เพราะการใช้ทางเลือกนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ถูกบังคับแล้ว ยังทำให้เขาได้พัฒนาระบบการคิดอย่างเป็นระบบ เพื่อทำการสื่อสารกับเราได้อีกด้วย

ตัวอย่างทางเลือกที่ควรพูดในแต่ละสถานการณ์ ควรเป็นดังนี้

เมื่อลูกไม่เก็บของเล่น

” ลูกอยากแข่งเก็บของเล่นกับพ่อ หรืออยากเก็บให้เสร็จแล้วมากินขนมด้วยกันดีครับ? ”

เมื่อลูกไม่ยอมแปรงฟัน

” ลูกจะแปรงฟันหลังดูการ์ตูนจบ หรือแปรงก่อนจะนอนดีคะ? ”

เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว

” ลูกอยากกินเมนูอื่นมั้ย มีให้เลือกสองเมนู เอาจานซ้ายหรือขวาดี ”

 

วิธีรับมือแบบที่ 2

สร้างกฏระเบียบแค่เรื่องจำเป็น ไม่ต้องมีกฏเยอะ

หลายครั้งที่เราต้องการตัดปัญหาการพูดว่าไม่ของลูก เราก็ตั้งกฏซะเลยเพื่อใช้ควบคุมพฤติกรรมไม่น่ารักของลูกเช่น ใครไม่กินข้าวจะต้องโดนตี ใครไม่นอนเร็วจะต้องถูกกักบริเวณ ใครเล่นของเล่นไม่เก็บจะต้องถูกงดขนม ซึ่งบางครั้งกฏเหล่านี้อาจไม่จำเป้นเลยถ้าเราสามารถสื่อสารกับลูกได้อย่างเข้าใจ

เพราะบางครั้งการสร้างกฏฟุ่มเฟือย จะทำให้กฏนั้นดูน่ารำคาญและทำให้ลูกยิ่งต่อต้าน พอเป็นแบบนั้นแล้ว ก็จะทำให้ทั้งเราและลูกสร้างความรู้สึกแย่ๆให้แก่กัน

ดังนั้น กฏที่ควรมีจึงควรมีเพียงหัวข้อใหญ่ๆ ให้ใช้ร่วมกัน และตัวเราเองก็ต้องปฏิบัติตามด้วยเช่น

กฏเกี่ยวกับการกิน ว่าทุกคนในบ้านต้องกินข้าวให้หมดจาน เป็นกฏรวมที่ไม่ว่าใครก็ต้องทำตาม

กฏเกี่ยวกับการนอน ทุกคนในบ้านจะต้องถอดรองเท้าก่อนขึ้นเตียงเสมอ

หัวใจหลักของการใช้กฏคือกฏต้องไม่ถูกสร้างเพื่อใช้เพียงกับลูกเพียงคนเดียว ไม่เช่นนั้น การตั้งคำถามต่างๆ ของลูกก็จะยิ่งมีอารมณืร่วมมากยิ่งขึ้น

 

วิธีรับมือแบบที่ 3 

อย่าพยายามเอาชนะ แต่ให้ใช้เหตุผลในการทำให้ลูกยอม

เวลาลูกแผลงฤทธิ์รัวคำว่า ไม่ ออกมาสารพันนั้น เราก็อยากจะเอาชนะด้วยการเถียงอย่างไรก็ได้ให้ลูกไม่สามารถต่อกร หรือใช้อำนาจกับเสียงที่ใหญ่กว่าเขาไว้เพื่อข่มให้ลูกรู้สึกไม่มีทางสู้เราได้ แน่นอนว่าการทำแบบนี้ อาจทำให้เราได้ชัยชนะในครั้งแรก แต่ครั้งหลังๆ เราอาจจะต้องเจอกับความดื้อ และการต่อต้านที่ควบคุมยากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ดังนั้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีแต่ความรู้สึกดีๆ ให้กัน ควรใช้เหตุผลให้มากกว่าการใช้อารมณ์เพื่อเอาชนะ

ดังนั้นการทำให้ยอมจึงต้องใช้การประนีประนอม และการหลอกกล่อมากกว่าการแสดงตนว่าอยู่เหนือกว่าลูก อาทิ

” หนูไม่กินข้าว หนูจะปวดท้องตอนออกไปเล่นนะ มากินก่อนได้มั้ยคะ ”

” ปวดฉี่ต้องรีบบอกนะ ไม่อั้นนะ ถ้าอั้นแล้วจะเจ็บนะ ”

 

วิธีรับมือแบบที่ 4

ใช้คำพูดด้านบวกเข้าหา อย่าตำหนิติเตียน

เวลาที่เราโกรธ เรามักจะพูดคำอะไรแย่ๆ ออกมา ยิ่งตอนที่ลูกกำลังรู้สึกสนุกที่ได้ต่อต้านเรา เราก็จะหลุดใช้คำทำร้ายจิตใจออกไปได้ง่ายดายมาก และนั่นก็อาจกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกจดจำไปตลอดว่าเขาอาจเป็นจริงแบบนั้น และก็จะเป็นตาม ซึ่งคำไม่ดีเหล่านั้น อาจเป็นคำที่พลั้งออกไปว่า ” เนี่ย เด็กไม่ดี ไม่มีวันเป็นเด็กดีของบ้านได้ ” , ” ทำไมดื้อขนาดนี้ ไม่รักแล้วนะ ”

แทนที่จะใช้คำไม่ดีเหล่านั้น ลองเปลี่ยนเป็นคำว่า

” หนูเป็นเด็กแข็งแรงใช่มั้ยครับ เด็กแข็งแรงต้องทำยังไง ต้องกินข้าวเยอะๆ จะได้แข็งแรงนะ ”

” ของเล่นเป็นของลูก ลูกได้เป็นเจ้าของทุกชิ้นเลย และลูกจะเอาของที่ลูกรักไปเก็บไว้ในไหนดี ไม่ให้หายกันนะ ลงกล่องใช่มั้ย? มาเอาลงกล่องกัน ”

 

ที่มา https://www.trueplookpanya.com/blog/content/55504/-parpres-par-   , https://www.facebook.com/kendekthai/posts/4310661998972953 , https://www.rama.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/child/06242014-1920