Parents One

วิธีทำให้”พี่น้อง”รักกัน จากประสบการณ์จริงของคุณแม่ลูกสอง

วันนี้จะมาแชร์ประสบการณ์ของแม่ลูกสองถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกเพื่อให้พี่น้องคู่นี้ ได้เข้าใจคำว่า “พี่น้อง”  ไม่ตีกัน ไม่อิจฉากัน ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องมาจากการสั่งสอน อบรมดูแล ของพ่อแม่ทั้งนั้น ในบทความนี้จะเป็นวิธีการที่ได้ใช้จริง และคิดว่าน่าจะมีประโยชน์แก่พี่น้องบ้านอื่นๆ  ลองอ่านกันดูนะคะ

1. สอนทั้งสองคนให้เข้าใจบทบาทตัวเอง

พี่คือพี่ เพราะพี่เกิดก่อนส่วนน้องเกิดทีหลัง ในตอนที่ลูกคนแรกกำลังจะได้กลายเป็นพี่ เราควรต้องให้ลูกมองภาพว่า “พี่” คืออะไร เช่น ยกตัวอย่างจากคุณป้า คุณลุง ที่เป็นพี่ของพ่อกับแม่ แล้วอธิบายให้ฟังว่าพี่คือคนที่เกิดก่อน อายุมากกว่า ดูแลตัวเองได้มากกว่า และยังช่วยแม่ดูแลน้องได้ด้วยนะ คุณแม่ควรพูดในมุมยกย่องพี่ตั้งแต่ก่อนที่น้องจะเกิดมา ว่าพี่คือคนที่พ่อแม่รัก และเมื่อมีน้องมาน้องก็จะเป็นคนที่พ่อแม่และพี่รัก

เพราะพวกเราคือครอบครัวที่มีพ่อแม่กับลูกๆ ทั้งสองคน  นอกจากนั้นควรสอนให้พี่ทำตัวดีๆ เพื่อเป็นแบบอย่างให้น้อง เช่น พูดเพราะ ไม่เล่นแรง ไม่แย่งของ เป็นต้น ในส่วนของน้องก็ต้องสอนให้เคารพพี่ที่โตกว่า ซึ่งถึงแม้ความจริงจะต้องใช้เวลามากแค่ไหนก็ตาม ก็ควรพยายามสอนลูกตลอด

2. แสดงความรักกับลูกเสมอ และให้ลูกแสดงความรักต่อกัน

แม่เชื่อในพลังแห่งอ้อมกอด การหอม การใกล้ชิดกับลูก ว่าจะส่งต่อความรักถึงกันได้  โดยแม่มักจะดึงลูกเข้ามากอด  ไม่ว่าจะเป็นการปลอบ ชมเชย ขอบคุณ หรือสถานการณ์ทั่วๆ ไปกอดลูกได้ พร้อมกับบอกลูกว่า “แม่รักลูกนะจ๊ะ” และเมื่อไหร่ที่พี่ทำดีแม่จะพูดขอบคุณ แสดงความชื่นชมให้น้องเห็น  และบอกลูกว่า “ลูกน่ารักมากเลยนะ ที่ทำแบบนี้  น้องของลูกต้องรู้สึกแบบเดียวกับแม่แน่ๆ มาๆ กอดกัน” พอทำแบบนี้ความสุขก็อบอวลไปรอบๆ บ้านเลยค่ะ

3. มีกติกาก่อนเล่น

เช่น ถ้าเราจะระบายสีกัน แม่จะเตรียมอุปกรณ์สำหรับพี่และน้องไว้คนละชุด ส่วนสีก็ใช้ร่วมกัน แต่ต้องแบ่งกันใช้นะห้ามแย่งของชิ้นเดียวกัน  สีเดียวกัน รอให้อีกคนใช้เสร็จก่อน ส่วนคนไหนไม่รอแม่ก็จะตักเตือน ถ้าลูกยังมีพฤติกรรมแบบเดิมก็จะโดนเก็บของไม่ให้เล่น ซึ่งในความเป็นจริงต้องดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก แต่มีหลักที่ใช้ง่ายๆ คือ หลักความยุติธรรม โดยผิดว่าไปตามผิด ไม่ใช่อะไรพี่ก็ต้องยอมน้องไปทั้งหมด เพราะบางเรื่องน้องก็แสบเกินทน

4. ให้ความยุติธรรม

คุณแม่จะใช้หลักให้พี่น้องจัดการปัญหากันเอง เพราะเล่นด้วยกันก็ต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้างเป็นธรรมดา และเราอาจไม่รู้เหตุการณ์ทั้งหมด แต่หากเป็นการกระทำที่รุนแรงเห็นความผิดกับตา ก็ควรต้องว่ากล่าวตักเตือนให้ผู้ทำผิดขอโทษอีกฝ่ายด้วย และสอนให้อีกฝ่ายรู้จักการให้อภัย การอ่านนิทานเรื่องพี่น้องให้ลูกฟังบ่อยๆ ก็ช่วยได้นะคะ

5. พ่อแม่ต้องมีทัศนคติที่ดี

ให้จำไว้ว่าเด็กก็คือเด็กพวกเขาเพิ่งใช้เวลาบนโลกนี้แค่ 2 ปี หรือ 4 ปี เราจะคาดหวังอะไรกับเค้ามากมายนัก เมื่อเราอยากให้เค้าเข้าใจคำว่า “พี่น้อง” และอยากให้เขารักกันก็ต้องสร้างสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวพ่อแม่เอง พยายามพูดซ้ำๆ วนไปให้ซึมซับ โดยคุณแม่อย่าเบื่อที่จะทำเรื่องเดิมๆ พูดสิ่งเดิมๆ เราต้องสอนเขาอยู่อย่างนั้น เพราะเด็กบางคนเข้าใจง่าย แต่เด็กบางคนก็ต้องใช้เวลา

ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดเพียงแค่ให้เวลาลูกหน่อย อยากยกที่คุณหมอประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์ เขียนไว้ว่า “กลไกที่พี่น้องรักกันคือร่วมทุกข์ร่วมสุข ใจเย็นๆที่จะดูเขาทะเลาะกัน อย่ารีบบังคับเขารักกัน เรายังมีเวลา”  เป็นข้อความท่ีแม่ชอบมาก จนขอนำมาใส่ในบทความนี้ด้วยค่ะ

การเลี้ยงลูกเชิงบวกต้องเริ่มที่พ่อแม่ค่ะ เพราะ EF( Executive Function หรือทักษะทางสมองที่ควบคุมความคิด) ลูกจะเกิดได้ก็เริ่มที่พ่อแม่อีก ในยุคนี้พ่อแม่จะเลี้ยงลูกแบบในสมัยก่อนคงจะไม่ได้แล้วนะคะ เพราะเรามีโอกาสที่จะสร้างลูกที่มี EF ให้เค้าเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มี EF คิดดูสิ ว่าพวกคุณกำลังสร้างโลกใหม่เลยค่ะ

เราเข้าใจว่าการเลี้ยงลูกเชิงบวกอาจจะไม่ง่ายเลย เพราะพ่อแม่ต้องปรับทั้งพื้นฐาน ทัศนคติ มุมมอง และความคิด แบบเดิมในยุคที่เราเคยถูกเลี้ยงดูมาก่อน ซึ่งไม่ใช่ว่าพ่อแม่เราเลี้ยงเรามาไม่ดีนะคะ เพียงแต่ในสมัยนี้มีเครื่องมือที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกให้เค้าเติบโตไปด้วยหัวใจที่ดีงามอย่างแท้จริง เเละแม่รี่เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนทำได้นะคะ ^ ^