Parents One

วิธีการสอนให้ลูกรับมือกับความผิดหวัง

ถ้าพูดถึงเรื่องความผิดหวัง แน่นอนค่ะเป็นธรรมดาที่คนเราจะต้องพบเจอ แต่ถ้าเด็กๆ รู้สึกผิดหวังหรือเสียใจบ้างหละ จะส่งผลกระทบทางด้านอารมณ์และจิตใจของเด็กๆอย่างไรบ้าง และด้วยระดับความเข้มแข็งของเด็กๆ แตกต่างจากผู้ใหญ่อย่างเราๆ เด็กๆ ก็จะไม่ค่อยเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองสักเท่าไหร่นัก

ดังนั้นวันนี้ เรามาทำความเข้าใจกับแนวทางการรับมือกับความผิดหวังของเด็กๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่มากระทบจิตใจของเขากัน และสิ่งสำคัญก็คือพ่อกับแม่คนที่อยู่ข้างๆเขา คนที่จะทำให้เด็กๆ มีความเข็มแข็งเกิดขึ้นนั้นเอง

คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้ก่อนว่าเด็กมีอารมณ์ไม่ปกติ โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กเล็ก เขาจะยังไม่สามารถรู้จักอารมณ์ของเขาได้ว่าตอนนี้รู้สึกอะไร เป็นอะไร และเมื่อเขาได้พบกับความผิดหวังก็จะแสดงออกโดยการร้องได้ โมโห หรือก้าวร้าวโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะรอจังหวะให้ลูกๆ ได้สงบ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงช่วยพูดถึงอารมณ์ของลูกที่เราได้เห็นให้ลูกฟัง โดยอาจจะถามว่า “ตอนนี้หนูกำลังเสียใจ หรือโกรธอยู่ใช่ไหมคะ” หรือจะพูดว่า “เพราะสิ่งนี้ใช่ไหม ที่ทำให้หนูเป็นแบบนี้” การพูดแบบนี้จะทำให้ลูกเข้าใจความรู้สึกของตัวเองจากการฟังคุณพ่อคุณแม่พูดนั้นเอง  และสิ่งสำคัญก็คือลูกๆ จะรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่นี้แหละเป็นที่พึ่งเมื่อพวกเขาเสียใจ และรู้สึกอบอุ่นใจมากขึ้น ทำให้ลูกรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ลองทำวิธีนี้ดูนะคะ

 

เมื่อเด็กๆ อยู่ในภาวะความผิดหวัง ด้วยความเป็นเด็กของลูกๆ แล้วเค้าก็จะควบคุมตัวเองไม่ได้มากเท่าที่ควร ลองให้ลูกได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นหรือเร้าอารมณ์รุนแรง ให้เขาได้สงบ สัก 10-15 นาที จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อารมณ์และรู้สภาวะผ่อนคลายของตนเองมากขึ้น ทำให้เขาได้รู้วิธีการผ่อนคลายอารมณ์ของตนเอง และรับมือในยามที่ผิดหวังได้ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่เมื่อรู้สึกว่าเค้าสงบลงแล้ว ก็ต้องมีการพูดคุยถึงสาเหตุของความผิดหวังและช่วยหาวิธีหรือแนวทางในการแก้ปัญหานั้นกับลูกนั้นเอง

 

เมื่อเด็กๆ รู้สึกผิดหวัง คุณพ่อคุณแม่ลองสำรวจความรู้สึกและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีผลกระทบอะไรกับเด็กบ้าง เพื่อให้เขาได้ทบทวนว่าความผิดหวังมีผลกระทบอะไรในมุมมองของลูก และเขาได้ประสบการณ์เรียนรู้อะไรจากความผิดหวังในครั้งนี้ และสาเหตุความผิดหวังนี้คืออะไร พยายามให้เขาได้มองรอบๆ ด้าน ว่าสาเหตุนั้นมาจากตัวของเขาเอง จากคนรอบข้าง หรือสภาพแวดล้อม เช่น เมื่อลูกไม่อ่านหนังสือ อาจจะมีส่วนที่ทำให้เขาได้คะแนนน้อยลง นี้ก็จะสะท้อนได้ว่า การไม่ได้ทำบางอย่างก็มีผลกระทบได้ เพื่อให้เด็กๆ ได้มองปัญหาอย่างรอบด้าน และเปลี่ยนแปลงตัวเองของเขาเองได้

 

คุณพ่อคุณแม่ย่อมทราบดีว่าลูกๆ ของเราสามารถทำได้หรือไม่ได้ในสิ่งไหนบ้าง เมื่อลูกทำในสิ่งที่คาดหวังมากจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่ลองลดความคาดหวังหรือเป้าหมายของเด็กๆ ที่เกินความสามารถหรือความเป็นจริงที่ลูกสามารถทำได้ในขณะนั้นดู อาจจะพูดคุยให้ลูกใช้ความสามารถในด้านอื่นๆที่เขาถนัดแทน เพื่อแก้ปัญหา หรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนเขาตั้งเป้าหมายใหม่ที่ท้าทาย และไม่เกินความสามารถของเด็กๆ แทนเพื่อให้ลูกมีโอกาสทำสิ่งนั้นได้สำเร็จได้นั้นเองค่ะ

 

การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันเป็นสิ่งที่ดีเหมือนทำให้อีกฝ่ายที่มีปัญหาได้ระบายความรู้สึกที่ไม่สามารถบอกใครได้  ถ้าเป็นลูกๆของเรา อาจจะให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งคำถามให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพื่อให้ลูกๆ ได้รู้ทิศทางของตนเอง และยังเป็นการเสริมพัฒนาการในการใช้ความคิดได้ลึกซึ้งมากขึ้น และยังสอนให้เด็กๆ มีความกล้าที่จะตัดสินใจแบบผู้ใหญ่มากขึ้น

 

ที่มา : พญ.ชนม์นิภา แก้วพูลศรี ( แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชศาสตร์ สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น )