Parents One

วิธีเล่นกับลูกในครรภ์ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย

การเล่นกับลูกในครรภ์ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างหนึ่ง และที่สำคัญยังเป็นการกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยอีกด้วย ในขณะที่ลูกน้อยในครรภ์เจริญเติบโต ทั้งส่วนของร่างกายแล้ว ยังมีการเจริญเติบโตด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย และจะสังเกตได้ว่า เด็กๆ ที่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้ว จะเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ฉลาด แถมยังอารมณ์ดีอีกด้วย

โดยการพัฒนาของลูกน้อยนั้นก็พัฒนานับตั้งแต่ คุณแม่ๆ ตั้งครรภ์ได้ 2 – 3 เดือน ภายในช่วงนี้ลูกน้อยจะรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว อีก 3 – 4 เดือน ประสาทหูและตาของลูกน้อยเริ่มทำงานได้ดีขึ้น ทำให้สามารถรับรู้ได้ถึงเสียงและแสงจ้าจากภายนอกครรภ์ได้บ้างแล้ว จนอายุครรภ์ได้ 5 – 6 เดือน เป็นช่วงเดือนที่เรียกได้ว่า ประสาทสัมผัส สมบูรณ์อย่างเต็มที่ ทำให้ลูกน้อยไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ และสามารถเคลื่อนไหวให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ได้นั้นเอง

วิธีการเล่นกับลูกในท้องที่คุณพ่อคุณแม่นำไปเล่นกับเด็กๆ ได้จะมีอะไรกันบ้าง จะสนุกยังไง ไปดูกันเลยค่ะ

1.พูดคุยกับลูกผ่านผนังท้อง

เด็กๆ สามารถได้ยินเสียงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งระบบการได้ยินของเขา เริ่มพัฒนาเมื่ออายุครรภ์ได้ 24 – 26 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเขาจะเร่ิมได้ยินเสียงหัวใจ และจดจำเสียงของคุณพ่อคุณแม่ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ลองทักทายด้วยการเรียกชื่อเขาดู ใช้คำที่ต้องใช้บ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น พ่อกับแม่รักหนูนะ พูดบ่อยๆ จะช่วยให้เด็กๆ ที่อยู่ในท้องคุ้นเคยกับคำต่างๆ  และมีพัฒนาการทางด้านภาษาและการได้ยินที่ดีอีกด้วยนะคะ

2.อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง

การอ่านหนังสือนิทานเป็นการสร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่งระหว่างแม่กับลูก ถ้าอยากให้เด็กๆ ในท้องได้รับรู้ละก็ คุณแม่อาจจะอ่านหนังสือนิทานสักเล่ม พร้อมกับทำท่าทาง เช่น ท่าปูไต่ หรือทำนิ้วทำท่าคนกำลังเดินบริเวณหน้าท้อง เพื่อเป็นการเล่นกับเด็กๆ ในท้องนั้นเอง นอกจากนี้การอ่านออกเสียงก็เป็นการฝึกพัฒนาการด้านการได้ยินให้กับลูกและด้านอารมณ์ แต่ก็อยู่ที่อารมณ์ของคุณแม่ด้วยนะคะ ถ้าคุณแม่อ่านด้วยน้ำเสียงนุ่ม เด็กๆ ในท้องก็จะสามารถรับรู้ถึงอารมณ์ของคุณแม่และซึมซับสิ่งนั้นได้ด้วย ถ้าคุณแม่อารมณ์หงุดหงิด ก็จะส่งผลเสียกับเด็กๆ ได้ด้วยเช่นกันค่ะ

3.เปิดเพลงเบาๆ หรือฮัมเพลงไปกับลูก

การเปิดเพลงหรือฮัมเพลงเบาๆ ไปกับลูกนั้น คุณแม่อาจจะนำหูฟังไปใส่ที่ท้องหรือสัมผัสที่ท้อง พร้อมเปิดเพลงในเด็กๆ ในท้องฟัง ซึ่งการเปิดเพลงอาจจะเป็นเพลงที่คุณแม่ชอบหรือฟังเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงกล่อมเด็ก หรือเพลงคลาสสิค เท่านั้นนะคะ ลองทำตามดูคุณแม่อาจจะรับรู้ได้ถึงการดิ้นของลูกตามจังหวะเพลงก็ได้ค่ะ แถมการฟังเพลงยังช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายได้อีกด้วยดีทั้งแม่และลูกเลยค่ะ

4.เล่นกับเค้าด้วยการลูบท้อง

การลูบท้องเป็นการช่วยกระตุ้นระบบประสาทและสมองส่วนการรับรู้และการรู้สึกของเด็กๆ ในท้องให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ในเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สัมผัสผ่านหน้าท้อง ผิวของทารกจะสัมผัสกับผนังด้านในของมดลูกและบางครั้งแม่ท้องอาจจะรู้สึกได้ว่า ลูกน้อยมีการโต้ตอบเคลื่อนไหวตามมือที่ลูบท้อง คล้ายกับว่าเขากำลังเล่นอยู่กับเรานั้นเอง ซึ่งวิธีการลูบท้องนั้น อาจจะลูบเป็นวงกลม จากบนลงล่าง หรือจากล่างขึ้นบน แต่อย่าลืมส่งความรักและความรู้สึกส่งผ่านมือของเราไปยังลูกในท้องก็จะดีมากๆ เลยนะคะ

5.ใช้ไฟฉายเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกน้อย

คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกในท้องได้โดยใช้ไฟฉายส่งไปยังบริเวณหน้าท้อง โดยการเล่นแบบนี้จะได้ผลดีเมื่อลูกเร่ิมดิ้นในท้อง โดยการเล่นจ๊ะเอ๋นี้เด็กๆ ในท้องจะเคลื่อนไหวตามแสงไฟที่ส่อง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งใจเล็งเพราะกลัวเด็กๆ ในท้องไม่เห็น เพียงแค่ส่องให้ลูกในท้องรู้ว่านี่คือแสงไฟที่ส่องเข้ามาก็พอแล้วค่ะและไม่ต้องใช้ไฟฉายที่มีหลอดแรงสูง แสงจ้าเกินไปเด็ดขาด เพราะจะเป็นอันตรายกับประสาทตาของเด็กๆ ได้นั้นเอง การเล่นแบบนี้หากลูกในท้องมีการตอบสนอง เช่น เตะ หรือดิ้น แปลว่าเด็กๆ รับรู้และเกิดการตอบสนองได้ เป็นการกระตุ้นเรื่องพัฒนาการด้านการมองเห็นนั้นเองค่ะ

6.พาลูกร่วมสนทนากับญาติสนิทมิตรสหาย

คุยกับลูกสองคนคงไม่สนุก ลองชวนคุณสามี หรือญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมคุยกับเด็กๆ ในท้องกัน เพราะมีผลยืนยันมาแล้วว่า เด็กๆ ที่คุณแม่ๆ พาไปพูดคุยหรือมีคนมาเยี่ยมเยือนบ่อยๆ หลังจากที่คลอดออกมา เด็กๆ มีความฉลาด อารมณ์ดี และเลี้ยงง่ายไม่งอแงกว่ากลุ่มเด็กๆที่ค่อนข้างสันโดษ ก็เพราะเนื่องจากทารกได้รับความรัก และสัมผัสความอบอุ่นจากคนรอบข้างได้มากกว่านั้นเองค่ะ ลองชวนคนสนิทหรือญาติๆ มาคุยเล่นกับลูกในท้องกัน นอกจากจะช่วยเรื่องพัฒนาการของเด็กๆ แล้ว ยังทำให้คุณแม่ๆ ไม่เหงาอีกด้วยนะคะ

 

ที่มา : rakluke, childingeverything