Parents One

มาทำความรู้จัก “ฝีดาษลิงในเด็ก” โรคติดต่อจากสัตว์สู่คนกันเถอะ

ในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน คงได้ยินข่าวเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงหรืออีกชื่อคือไข้ทรพิษลิง แต่อย่าพึ่งกังวลใจไปค่ะ เพราะโรคนี้ยังไม่ได้มีการแพร่ระบาดหรือมีผู้ติดเชื้อในไทย จะมีแค่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวน 12 คน จากการอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อที่เข้ามาเปลี่ยนเครื่องในสนามบินที่ไทย แต่ปัจจุบันผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้มีอาการอะไรค่ะ 

วันนี้ Parents One จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับ “โรคฝีดาษลิง” กันค่ะ

โรคฝีดาษลิงในเด็ก

ในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ขวบ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคฝีดาษลิง เพราะอาจมีอาการแทรกซ้อนได้ในบางราย ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ 3.6%

คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินคำว่า “คนแก่รอดเด็กเป็น” โดยคำนี้เกิดจากการที่ในปี 2523 องค์กรอนามัยโลกได้มีประกาศให้โรคฝีดาษหมดไปจากโลก การปลูกฝีดาษจึงหมดไปตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทำให้เด็กที่เกิดหลังจากนั้นจึงไม่ได้รับการปลูกฝีดาษ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณพ่อคุณแม่ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปจะได้รับการปลูกฝีดาษแล้ว ทำให้จะมีภูมิป้องกันถึง 85% กันเลยทีเดียวค่ะ

How to วิธีสังเกตโรคฝีดาษแบบง่ายๆ รู้ก่อน รักษาได้ทัน

อาการในระยะแรกจะเริ่มตั้งแต่ 0-5 วัน โดยอาการเบื้องต้นที่พบ นั่นคือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ ปวดหลัง และมีต่อมน้ำเหลืองโต หรืออาจมีอาการเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น อาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย หรืออาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม เป็นต้น 

ส่วนอาการในระยะที่สองจะเริ่มมีการออกตุ่ม หรือผื่น ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้น 3 วันหลังจากมีไข้ค่ะ 

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตลักษณะของผื่นหรือตุ่มว่าเป็นฝีดาษลิงหรือไม่? โดยดูได้จาก ผื่นหรือตุ่มนี้จะมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ชัดเจน

โดยจะเริ่มจากเป็นรอยนูนแดงก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มเป็นตุ่มนูนขึ้นมา แล้วค่อยเริ่มเป็นตุ่มหนองหรือเป็นตุ่มน้ำใสตามมา แล้วจึงค่อยๆ ตกสะเก็ดไป ซึ่งระยะเวลาในการตกสะเก็ดจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ แล้วจึงค่อยๆ หายไป ซึ่งส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือในเด็กเล็กมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปอดอักเสบหรือเสียชีวิตได้ค่ะ

 

 โรคฝีดาษลิง แพร่เชื้อได้หรือไม่?

ในโรคฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีไข้ แต่ตอนที่สามารถแพร่ได้มากที่สุด นั่นก็คือ ตอนที่มีตุ่มผื่น ซึ่งเราสามารถติดได้จากสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย รวมถึงละอองจากการหายใจในอากาศ 

โดยลักษณะจะใกล้เคียงกับเชื้อโควิดเลยค่ะ แต่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้เร็วเหมือนกับโรคโควิด-19 หรอกนะ ซึ่งเชื้อฝีดาษลิงจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 6-13 วัน แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ได้ไปพบเจอ หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงจากคนที่เป็นโรคฝีดาษลิงก็จะต้องทำการกักตัวอยู่ถึง 21 วัน ด้วยกันค่ะ 

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะไปไหนต้องดูแล และเตรียมความพร้อมของร่างกายให้ดีขึ้นด้วยนะคะ จะได้ไม่ป่วยเป็นโรคง่ายนั่นเองค่ะ

 

วัคซีนและการป้องกัน

ในปัจจุบันนี้ มีวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ โดยวัคซีนนี้จะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 28 วันด้วยกันค่ะ แต่จะสามารถฉีดได้เฉพาะคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น ทำให้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กเล็กนั่นเองค่ะ

ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ เพื่อเป็นการป้องกันลูกน้อยของเรา นั่นก็คือ การหมั่นให้เด็กๆ ล้างมือบ่อยๆ และสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ก็จะสามารถช่วยป้องกันจากติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งและละอองต่างๆ ที่อยู่ในอากาศได้ค่ะ นอกจากนี้ อาหารที่รับประทานก็ควรเป็นอาหารที่ผ่านการปรุงสุกมาเรียบร้อยแล้วนะคะ

รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กๆ ไปสวนสัตว์ และสัมผัสกับสัตว์ป่า เช่น ลิง และสัตว์จำพวกสัตว์ฟันแทะ และหากเป็นไปได้ช่วงนี้ควรหลีกเลี่ยงการต้องไปพบเจอกับญาติ หรือบุคคลที่มาจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ ได้แก่ ประเทศอังกฤษ ไนจีเรีย และโปรตุเกส เป็นต้นค่ะ ถ้าครอบครัวเราทำได้จะถือว่าสามารถป้องกันลูกๆ ของเราในเบื้องต้นไม่ให้ติดเชื้อฝีดาษลิงได้อีกช่องทางนึงเลยค่า

 

ถ้าติดเชื้อแล้ว…มีวิธีการรักษาอย่างไร?

การรักษาจะใกล้เคียงกับโรคโควิด 19 ที่เราคุ้นเคยกันเลยค่ะ นั่นก็คือ การรักษาตามอาการ แต่ในรายที่มีอาการหนักก็จะมีการให้ยาต้านไวรัสควบคู่ไปด้วยกันค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรที่จะปรึกษาแพทย์และอยู่ในการดูแลของแพทย์

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ โรคฝีดาษลิงที่เรานำมาให้ทุกคนได้ทำความรู้จักกัน ถึงแม้จะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่ก็ไม่ได้แพร่เชื้อเร็วเหมือนกับโรคโควิด-19 น้า แต่เราก็ห้ามประมาทเด็ดขาด เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นล้างมือลูกบ่อยๆ และห้ามไม่ให้เด็กๆหยิบสิ่งของหรือสิ่งอื่นๆ ใดเข้าปากกันด้วยนะค้าา

แค่นี้ก็ไม่ต้องกลัวหรือกังวลกับโรคฝีดาษลิงกันแล้วค่ะ เห็นไหมล่ะว่าโรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเรารู้จักป้องกันตัวให้ปลอดภัยอยู่เสมอนั่นเอง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก TNN Online Thairath Online โรงพยาบาลบางกอก