Parents One

Parents talk : วางแผนการเงินให้ลูกกันเถอะ

เพราะคำว่ามีลูก 1 คน จนไป 10 ปีทำให้หลายๆ ครอบครัวนึกขยาดกับการมีลูก ไหนจะค่าเทอมเด็กที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วยังมีค่าครองชีพ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ขยับขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่จริงๆ แล้วหากคุณพ่อ คุณแม่จับเข่าคุยกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้รู้ว่าการวางแผนดีมีชัยไปมากกว่าครึ่งค่ะ

5 เรื่องการเงินที่ต้องคุยกัน

1. สำรวจรายรับรายจ่าย   

วิธีนี้เป็นการบอกรายได้ และรายจ่ายของแต่ละคนให้ชัดเจนว่าแต่ละคนมีรายได้จากไหนบ้าง อาทิ เงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น รายได้จากการขายของ และดูรายจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนรถ หนี้บัตรเครดิตฯ การพูดคุยกันจะทำให้เรารู้ว่า ครอบครัวเรามีรายได้และรายจ่ายต่อเดือนรวมแล้วเหลือกี่บาท แรกๆ อาจจะตะขิดตะขวงใจหน่อยที่คุยเรื่องเงิน แต่หากลองคิดถึงคำว่าครอบครัวที่ไม่ได้มีแต่เราคนเดียวแล้ว การเปิดอกคุยกันสบายใจกว่าเยอะค่ะ

2. กำหนดและเขียนเป้าหมายให้ชัดเจน

ถ้าเราตั้งเป้าไว้แต่ไม่เขียน บางทีอาจจะลืมบ้าง ยุ่งบ้าง ใช้จ่ายเงินช่วงต้นเดือนเพลินไปบ้าง ทำให้ไม่สามารถออมได้ตามกำหนด การเขียนตารางลงในสมุดจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น และเมื่อเห็นเงินออมของลูกงอกเงย เราจะยิ่งมีกำลังใจ

ทั้งนี้ เป้าหมายที่ดีควรจับต้องได้ วัดผลได้ และติดตามได้ด้วยนะคะ ว่าเราใกล้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง หรือเกิดอุปสรรคอะไรระหว่างทางจะได้ช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาค่ะ คราวนี้เราลองมาตั้งเป้าหมายเก็บเงินให้ลูกแบบง่ายๆ กันดู เช่น ต้องการออมเงินเพื่อการศึกษาลูก 500,000 บาท ให้ได้ภายใน 5 ปี โดยจะเก็บเงินปีละ 100,000 บาท

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าต้องออมเงินปีละ 100,000 บาท หาร 12 เดือน เท่ากับเดือนละ 8,333 บาท  คุณพ่อ คุณแม่ก็ลองปรึกษากันว่าในแต่ละเดือน เรามีเงินออมให้ลูกเท่านี้พอไหม หากพอก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากมีไม่พอ เราคงต้องวางแผนกันใหม่ให้เหมาะสมกับครอบครัว

3. การบริหารเงินออม 

1. จดบัญชีรายรับรายจ่าย

วิธีจะช่วยให้เห็นว่าเงินเราหายไปกับค่าอะไรบ้าง จะทำให้เราประหยัดขึ้น และเห็นข้อมูลการเงินของตัวเอง ว่าแต่ละเดือนมีเงินคงเหลือเท่าใด

2. เปิดบัญชีเงินฝากประจำ

ถ้าจะให้ดีเป็นธนาคารเดียวกับบัญชีเงินเดือนเลยก็ดีค่ะ พอถึงเวลาเงินเดือนออกปุ๊บก็ให้หักเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากประจำทันที คราวนี้เก็บเงินได้แน่นอน

3. เก็บก่อนใช้ มีหลายสูตรค่ะ เช่น

* สูตร 20 : 80 คือ เมื่อมีรายได้เข้ามาแล้ว ให้เก็บทันที 20% และที่เหลือ 80% เป็นรายจ่ายของทั้งเดือน
* สูตร 50 – 30 – 20 คือ 50% สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็น 30% เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องการ เช่น ค่าหนังสือ ค่ากินข้าว ดูหนัง ช็อปปิ้ง

4. ลดพฤติกรรมช็อปเพลินเกินห้ามใจ อาทิ

* การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเกินตัว
* การซื้อเครื่องสำอางเยอะแยะ แต่แทบไม่เคยแตะจนกระทั่งมันหมดอายุ
* ซื้อเสื้อผ้าจนล้นตู้ แต่จำไม่ได้ว่าใส่ครบทุกตัวหรือยัง

5. หารายได้เสริม

คราวนี้ต้องมาดูแล้วค่ะ ว่าแต่ละคนหารายได้เพิ่มจากทางไหนได้บ้าง เช่น เป็นช่างภาพ ขายสินค้าออนไลน์ ขายของตามตลาดนัด ปลูกผักหรือต้นไม้ขาย หรือรับสอนพิเศษก็เป็นการใช้ทักษะที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

6. เลือกออมเงินรายวัน อาทิ

* เก็บธนบัตรใบละ 50 บาท
* ซื้ออะไรจ่ายเพิ่มเท่านั้น เช่น ซื้อกาแฟเย็นแก้วละ 40 บาท พอถึงบ้านก็ต้องนำเงินมาใส่ไว้ในกระปุก 40 บาทเท่ากัน การต้องจ่ายสองเท่าบ่อยๆ จะทำให้คุณเริ่มเสียดายและใช้จ่ายน้อยลง
* นำกระปุกมาใส่เงินออมแต่ละประเภท เช่น ท่องเที่ยว ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือทำบุญ หรือถ้าไม่ใช้กระปุก อาจจะซื้อชั้นเล็กๆ ที่มี 3 – 5 ชั้น มาแยกเงินเก็บแต่ละประเภทก็ได้ค่ะ
* ตั้งงบที่จะใช้จ่ายรายวัน เช่น วันละ 150 บาท หรือ 200 บาท แล้วแบ่งเงินใส่ถุง/ซอง ตามจำนวนวันในแต่ละเดือน หรือจะซื้อปฏิทินเงินออมจากร้านไดโซะ ราคา 60 บาทก็ได้ค่ะ สะดวกดี 

4. เรื่องสิทธิ์น่ารู้

ค่าเล่าเรียนบุตร
เบิกได้ หรือไม่ได้ หากไม่ได้จะมีแนวทางสนับสนุนลูกอย่างไรบ้าง เช่น ขอรับทุน หรือสอบชิงทุนการศึกษา

• ค่ารักษาพยาบาล
เบิกได้ หรือไม่ได้ หากเบิกไม่ได้อาจจะต้องพิจารณาเรื่องซื้อประกันสุขภาพให้ลูกบ้าง เผื่อเจ็บป่วย

• การลดหย่อนภาษีสำหรับบุตร
จากเดิมลดหย่อนภาษีได้ 15,000 บาท และไม่เกิน 3 คน แต่โครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2560 ได้มีการปรับให้เลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และไม่จำกัดจำนวนคน

5. ออมเงินให้งอกเงย

ก็คือการแบ่งเงินออมของลูกไปทำประโยชน์ต่อ เช่น เงินฝากประจำ ซื้อสลากออมสิน/สลาก ... ซื้อทอง ลงทุนหุ้นหรือกองทุนรวม ทั้งนี้ ควรศึกษาการลงทุนแต่ละประเภทให้เข้าใจก่อนนะคะ

ในระหว่างนี้ คุณพ่อ คุณแม่ก็ปลูกฝังให้ลูกรักเป็นนักออมตัวน้อยไปพร้อมๆ กันเลยก็ได้ ถือเป็นโอกาสสอนเรื่องระเบียบวินัย และการออมให้ลูกไปในตัว เพราะเด็กๆจะเรียนรู้ได้ดี ก็เพราะเห็นตัวอย่างจากคนต้นแบบใกล้ๆตัวนี่เองค่ะ

การวางแผนการเงินของลูกร่วมกันเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ เพราะจะช่วยให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น ไม่เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นด้วยล่ะค่ะ

บทความโดย : แม่แอร์