Parents One

ถ่ายรูปลูก แต่ระวังติดหน้าคนอื่น!! PDPA พ.ร.บ. คุ้มครองส่วนบุคคลที่ใครๆ ก็ต้องรู้

ทำไมช่วงนี้ เราถึงได้ยินคำว่า PDPA กันบ่อยขึ้นใช่ไหมล่ะคะคุณพ่อคุณแม่ ทั้งในโซเชียลมีเดีย หรือจะในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ทุกคนก็ต่างให้ความสำคัญเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ ซึ่งจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565

PDPA คืออะไรกันแน่ แล้วทำไมถึงเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ?

ทำความรู้จัก “PDPA” คืออะไร?

PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งการต้องขอ “ความยินยอม” จากเจ้าของข้อมูล ก่อนการเก็บ รวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยในที่สาธารณะ หรือนำไปใช้ในทางที่ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิตใจแก่บุคคลที่ถูกอ้างอิง

ทั้งข้อมูลส่วนตัว รูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือแม้กระทั่งชื่อ – นามสกุล หากเจ้าของข้อมูลส่วนตัวไม่ยินยอม ผู้ที่เป็นคนเปิดเผยข้อมูลเหล่านั้น ก็สามารถมีความผิดตาม พ.ร.บ. ได้ทั้งสิ้น

และแน่นอนว่า พ.ร.บ. นี้มีผลกับทุกองค์กรทั่วโลกที่เก็บข้อมูลของคนไทย จึงไม่มีองค์กรไหนสามารถทำเพิกเฉยกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือที่เรียกกันว่า PDPA นี้ได้

 

ข้อมูลแบบไหน ถือเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่ต้องระวังไม่ให้คนอื่นรู้!

ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลที่ห้ามเปิดเผยให้ใครรับรู้ได้ง่ายๆ เนื่องจากข้อมูลเหล่านั้นเป็นข้อมูลที่สำคัญ และจำเป็นมากๆ ในชีวิตเรา รวบรวมทุกอย่างในชีวิต และสามารถใช้ยืนยันตัวตนที่แท้จริงของเราได้ ดังนี้

เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ลูกน้อยรับรู้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลนั้นเป็นความลับมากๆ จึงไม่ควรบอกให้ใครรู้ และสอนลูกน้อยให้ลูกน้อยอย่าหลงเชื่อกลโกงง่ายๆ ในโลกออนไลน์นั่นเอง

 

Q&A เคสแบบไหนที่พ่อแม่ควรระวัง เมื่อมี PDPA

คุณพ่อคุณแม่อาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้ว PDPA หรือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตแม่ลูก 2 อย่างเราล่ะ Parents One เลยขอยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ว่าแท้จริงแล้ว PDPA นั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตของเราบ้างนั่นเองค่ะ

 

Q1 : ถ่ายรูปลูก แต่ดันติดใบหน้าของเด็กคนอื่น ในลักษณะที่ไม่เหมาะสม แล้วโพสต์ลง Facebook ส่วนตัว

A : ในลักษณะเคสนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ผิด PDPA ค่ะ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่ควรโพสต์ลงไปอย่างยิ่งนะคะคุณพ่อคุณแม่ แม้ว่าจะโพสต์ใน Facebook ส่วนตัวก็ตาม

ซึ่งวิธีแก้ที่ดีที่สุด คือการไม่ถ่ายภาพติดใบหน้าของเด็กคนอื่น แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ให้เบลอภาพใบหน้าของเด็กคนอื่นที่ถูกถ่ายติดนั่นเองค่ะ และอีกวิธีที่แสนง่าย นั่นก็คือ เอารูปภาพนั้นไปขออนุญาตความยินยอมจากอีกฝ่ายนั่นเอง

แต่ถ้าคุณแม่ของเด็กคนนั้นเผลอมาเห็น แล้วไม่พอใจ อยากให้ลบภาพนั้นทิ้ง เราก็ต้องลบภาพนั้นนะคะคุณพ่อคุณแม่ เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลของลูกเขานั่นเองค่ะ

 

Q2 : กล้องวงจรปิดในโรงเรียนที่คอยถ่ายลูกเรา ผิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่?

A : ติ๊กต๊อกๆ ถึงเวลาเฉลยยยย

กล้องวงจรปิดที่ถ่ายลูกของเราในโรงเรียน ไม่ผิด PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล นั่นเองค่ะ

แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามทางโรงเรียนนำคลิปจากกล้องวงจรปิดไปเผยแพร่ในที่สาธารณะ และไม่สามารถเปิดให้ผู้ปกครองทุกคนดูได้ ยกเว้น ตอนที่เด็กนักเรียนมีปัญหา แล้วผู้ปกครองต้องการหลักฐานเพื่อสืบหาความจริง ทางโรงเรียนก็ต้องยินยอมให้ผู้ปกครองดูคลิปจากกล้องวงจรปิดนั้นนะคะ

 

Q3 : โรงเรียนถ่ายรูปรวมของเด็กนักเรียน แล้วโพสต์ลง Facebook ของเพจโรงเรียน เพื่อโปรโมตกิจกรรม

A : ในเคสนี้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าผิด PDPA รึเปล่าเอ่ย?

เฉลย ไม่ผิด PDPA ค่ะ แต่รูปภาพที่ลงในเพจ Facebook ของโรงเรียน ต้องเป็นรูปภาพรวมของเด็กนักเรียน และห้ามเป็นภาพใบหน้าเด็กเฉพาะคนใดคนหนึ่ง ก็จะไม่ผิด PDPA แล้วค่ะ

เดี๋ยวก่อน! แต่ถ้ามีผู้ปกครองของนักเรียนคนใดที่อยู่ในรูป ไม่ต้องการให้รูปหน้าลูกของตัวเองลงเพจโรงเรียนแล้วล่ะก็ ทางโรงเรียนก็ต้องทำการลบรูปภาพนั้นให้นั่นเอง

 

Q4 : พ่อแม่ถ่าย Vlog กับลูก แล้วเผลอไปติดเด็กคนอื่น แล้วโพสต์ลงเพจ Facebook แบบสาธารณะ

A : ไม่ผิด PDPA แต่ทางที่ดีที่สุด เพื่อกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง นั่นก็คือ คุณพ่อคุณแม่ควรมีการบอกคนที่อยู่แถวนั้นก่อนว่าจะมีการถ่ายทำ Vlog ไปลงในเพจใด เพื่อแจ้งให้บุคคลที่อยู่แถวนั้นได้รับทราบ และเตรียมตัว ซึ่งอาจจะบอกผ่านทางวาจาก็ได้เช่นเดียวกัน

 

PDPA เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอะไรบ้าง?

  1. สิทธิการได้รับแจ้ง มาตรา 19
  2. สิทธิในการเพิกถอนความยินยอม มาตรา 19
  3. สิทธิการแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลให้ถูกต้อง มาตรา 35 และ 36
  4. สิทธิในการลบข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 33
  5. สิทธิในการให้โอนย้ายข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 31
  6. สิทธิการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 30
  7. สิทธิในการห้ามมิให้ประมวลข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 34
  8. สิทธิในการคัดค้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 32

 

ขอบคุณแหล่งอ้างอิง : easypdpa.com
www.bangkokbiznews.com