Parents One

รู้จัก Pre Writing Skill ลูกอายุเท่านี้ขีดเขียนได้แบบไหนกันนะ

ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะเริ่มเขียนตัวอักษรจนคล่องได้นั้น อวัยวะที่ต้องผ่านฝึกฝน และทำเป็นประจำเลย นั่นก็คือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่ไล่ตั้งแต่ข้อมือลงมาจนถึงนิ้วมือ เพื่อให้สามารถบังคับทิศทางในการเขียนตัวอักษรต่างๆ ได้อย่างตามใจ ทั้ง ก ข ค ง หรือจะเป็น A B C D ก็ไม่มีปัญหาค่ะ

ซึ่ง Pre Writing Skill จะเริ่มตั้งแต่เด็กที่มีอายุ 1-5 ปี ซึ่งเป็นวัยก่อนเรียน (Pre-school child) แต่ไม่ใช่การบังคับให้เด็กเขียนหนังสือนะคะ ที่ต้องเป็นเด็กวัยนี้ก็เพราะว่า สมองของเด็กจะมีพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ไวที่สุด และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อแสดงความต้องการ ช่างสังเกต ช่างจดจำ และช่างซักถามนั่นเอง

ดังนั้น ก่อนที่เจ้าตัวเล็กจะเขียนตัวอักษรได้คล่อง จะต้องมีการขีดเขียนเป็นรูปทรงต่างๆ ก่อนนั่นเอง และที่สำคัญ จะต้องแยกประสาทในการควบคุมมือ และตาที่ต้องประสานงานกันอย่างดีด้วย จึงจะทำให้เด็กๆ ทำกิจกรรมได้อย่างสนุกสนาน และไม่กดดัน เช่น การวาดภาพ ระบายสีตามจินตนาการ และยังทำให้การเขียนมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อย่ารอช้า!! เราขอพาคุณพ่อคุณแม่ไปทำความรู้จักกับ Pre Writing Skill ลูกอายุเท่านี้ขีดเขียนได้แบบไหนกันนะ ไปดูกันเลยค่ะ

รูปทรงที่เด็กๆ มักจะวาดได้ในแต่ละวัย

  • อายุ 1 – 2 ปี : ขีดเส้นยุ่งเหยิง
  • อายุ 1.5 – 2 ปี : ขีดเส้นตรงแนวตั้ง
  • อายุ 2.5 ปี : ขีดเส้นตรงแนวนอน, รูปทรงกลม
  • อายุ 3 ปี : ขีดเส้นตรงแนวตั้ง, เส้นตรงแนวนอน และรูปทรงกลมได้
  • อายุ 3 – 3.5 ปี : สามารถเลียนแบบการวาดรูปบวก
  • อายุ 4 – 4.5 ปี : เลียนแบบการวาดรูปเครื่องหมายบวกบวก, สี่เหลี่ยมจตุรัส, วาดเส้นทะแยงซ้ายและขวาได้
  • อายุ 5 ปี : วาดรูปสามเหลี่ยม และกากบาทได้

คุณพ่อคุณแม่ต้องอย่าเร่งลูกเขียนตัวอักษรให้เป็นก่อนวัยที่ควรจะเป็นนะคะ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ให้ลูกได้จับเล่นขีดเขียน และคุ้นเคยกับดินสอสีแท่งโปรดก่อน แล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีอะไรยากแล้วค่ะ

โดยอาจจะเริ่มจากการทำเส้นประให้ลูกค่อยๆ เขียนตาม แล้วค่อยๆ เปลี่ยนให้ลูกลองดูมือของคุณพ่อคุณแม่เขียน แล้วให้ลูกเขียนตาม

ในช่วงแรกลูกอาจจะเขียนไม่ตรงบ้าง นอกเส้นบ้าง ก็ต้องใจเย็นๆ อย่าโมโห หรืดุลูกไปเลยค่ะ มาช่วยกันฝึกให้เจ้าตัวเล็กมีกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรง และมีประสิทธิภาพกันนะคะ เพื่อเตรียมพร้อมให้ลูกมีพื้นฐานที่ดีในการเขียนหนังสือต่อไปในอนาคตนั่นเอง

ขอบคุณแหล่งอ้างอิง : Wellkids.th