Parents One

แนะนำหนังสือนิทานที่ช่วยสอนให้เด็กๆ อยู่บนโลกใบนี้ได้ดียิ่งขึ้น

หนังสือนิทานเป็นสิ่งที่ชุบชูจิตใจของคนที่ได้ฟัง โดยในหลายครั้งหนังสือนิทานก็สามารถสร้างคุณค่าทางจิตใจให้เด็กๆ ได้ไม่น้อย รวมไปถึงสอนเรื่องราวบางอย่างที่ทำให้เขาเข้าใจได้อย่างง่ายดาย นั่นรวมไปถึงปัญหาใหญ่ที่เด็กในทุกยุคสมัยมักพบเจอ นั่นคือ “การกลั่นแกล้ง” แต่พ่อแม่อย่างเราจะมีวิธีรับมือกับปัญหานี้อย่างไร คือสิ่งที่ยากมากกว่า ดังนั้นคงดีไม่น้อยหากเรามีสื่อที่ช่วยสอนให้ลูกรับมือหากถูกกลั่นแกล้ง และไม่ไปกลั่นแกล้งผู้อื่นเสียเอง

หนังสือนิทานชุดนี้เป็นชุดที่เราอยากแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่าน รวมถึงอ่านให้ลูกฟัง เพราะมั่นใจว่าจะช่วยให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ได้อย่างดีมากยิ่งขึ้น นอกจากมีเนื้อหาที่ดีแล้ว ภาพประกอบยังน่ารักและช่วยให้พ่อแม่อธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือได้อย่างเห็นภาพมากขึ้น โดยหนังสือเหล่านี้นี้เป็นหนังสือในชุด ทำอย่างไรเมื่อโดนกลั่นแกล้ง ของสำนักพิมพ์วายเอฟคัลเจอร์ค่ะ

ผลักเพื่อนไม่ใช่เรื่องสนุกนะ

การทำร้ายร่างกายเป็นสิ่งที่รุนแรงและไม่มีเด็กคนไหนควรได้รับสิ่งนี้ หนังสือเล่มนี้จึงจะช่วยให้เด็กๆ รวมไปถึงพ่อแม่สามารถรับมือกับปัญหาเมื่อลูกถูกเพื่อนรังแก และสอนให้ลูกไม่ไปทำร้ายร่างกายคนอื่น โดยนิทานเล่มนี้จะสะท้อนพฤติกรรมการกลั่นแกล้งทางกาย ไม่ว่าจะเป็น การชกต่อย ทุบตี ดึงผม เตะ กระชากแขน หรือผลักกัน ซึ่งจะสร้างบาดแผลทั้งทางใจและกายแก่เด็กที่ถูกกระทำ ส่งผลให้พวกเขาขาดความมั่นใจ หวาดกลัว และอยากหนีห่างจากสังคม

ดูถูกเพื่อนไม่ใช่เรื่องสนุกนะ

การดูถูกก็เป็นหนึ่งในการกลั่นแกล้งที่พบเจอได้บ่อยไม่น้อย อาจจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เห็นได้จากบาดแผลทางร่างกาย แต่กลับสร้างบาดแผลทางใจได้รุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกับคนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ หนังสือนิทานเล่มนี้จะพูดถึงการติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ การหยอกล้อของเด็กๆ ที่ลุกลามจนกลายเป็นการกลั่นแกล้งกัน หลายครั้งที่เด็กๆ มักจะเอาชื่อเพื่อนมาล้อ หรือตั้งฉายาแปลกๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การดูถูกหรือข่มขู่ได้ และถือเป็นการสร้างปมที่ยากจะคลายให้แก่เด็กที่ถูกกระทำได้

 

บางครั้งมุกตลกไม่ใช่เรื่องสนุกนะ

“เรื่องล้อเล่น ไม่เห็นต้องจริงจัง” เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่ความจริงเสมอไป เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าสิ่งที่พูดออกไปจะสร้างผลกระทบทางจิตใจของคนฟังอย่างไร ประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่การกลั่นแกล้งกันทางตรง ในช่วงแรกเด็กๆ อาจจะล้อกันด้วยความสนุกสนาน ล้อหน้าตา รูปร่าง รวมไปถึงปมด้อยของคนอื่นๆ เด็กๆ อาจนึกไม่ทันว่าสิ่งที่เขาทำจะเป็นการกลั่นแกล้งคนอื่น เพราะไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางกาย แต่เมื่อนานวันเข้า การล้อเล่นก็อาจเลยเถิดไปเป็นการกลั่นแกล้งทางจิตใจได้เช่นกัน