Parents One

แชร์ประสบการณ์เลี้ยงลูกให้เป็นเด็ก Creative แบบฉบับคุณพ่อสุดติสท์ กอล์ฟ นันทวัฒน์

ความคิดสร้างสรรค์ มักเกิดจากแรงบรรดาลใจที่มีพลัง และมีเอกลักษณ์ของคนนั้นๆ ซึ่งไม่มีใครที่สามารถวัดความคิดสร้างสรรค์ในตัวของมนุษย์เราได้ เด็กที่เติบโตมาในสังคมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเกณฑ์สูง ก็จะได้เปรียบในเชิงการใช้ชีวิต อาชีพ การงาน

แล้วจะมีวิธีหรือเทคนิคไหนบ้างละที่จะช่วยให้พ่อแม่มือใหม่อย่างเราๆ เลี้ยงลูกให้เป็นเด็ก Creative ไปฟังคุณพ่อกอล์ฟ นันทวัฒน์ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์การเลี้ยงลูกให้ทีมงาน Parents One ฟังกันดีกว่าค่ะ

แนะนำตัวให้ Parents One รู้จักกันหน่อยค่ะ

พ่อกอล์ฟ : ผมชื่อกอล์ฟ เป็นพ่อน้องปอล์ฟนะครับ เป็นเจ้าของบริษัท NAWIN Consultant เป็นที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์ และครีเอทีฟครับ

ชีวิตหลังจากมีลูก เปลี่ยนไปอย่างไร

พ่อกอล์ฟ :  เปลี่ยนไปเยอะเลย เพราะเมื่อก่อนคือเซ็นเตอร์ของเราเรื่องงาน บางทีผมยังคิดเลย เอ๊ะ! เราเห็นงานสำคัญกว่าแฟน สำคัญกว่าพ่อแม่เรารึเปล่า ทำไมเราบ้างานขนาดนี้ แต่พอเรามีลูกปุ๊บ เราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง คือ เรากลับถึงบ้านเราเริ่มไม่เช็คอีเมลออฟฟิศและ อยู่บ้านเราก็อยู่กับปัจจุบันขณะกับลูก เล่นไปกับลูก

แบ่งหน้าที่เลี้ยงลูกกันอย่างไร  ?

พ่อกอล์ฟ :  ถ้าคนดูแลและก็สอนเลยเนี่ย คือ ตัวแฟนผม คุณป๋อมนะ เขาจะให้เวลากับลูก เพราะว่าเขาออกมาเป็นแม่บ้าน Full – Time อยู่กับลูก ส่วนใหญ่เขาจะเป็นคนคอยสอนการบ้าน ผมจะเป็นหน่วยเล่นมากกว่า กลับมาบ้านคือถ้าเกิดลูกเจอผม คือมีหน้าที่เล่นเลย

วิธีปรับสมดุลเวลาระหว่าง งาน VS ลูก

พ่อกอล์ฟ :  มันเป็นช่วงๆนะ ถ้าเกิดช่วงไหนที่ผมตื่นเช้าก็จะได้เล่นกับลูกอีกแป๊บนึงก่อนลูกไปเรียนนะ แต่ว่าตอนเย็นเนี่ยผมถือว่าช่วงก่อนนอนของลูกประมาณชั่วโมงนึงชั่วโมงครึ่งเนี่ย เราจะเล่นกันบนเตียงและผมจะมีเกมอันนึง คือเขาจะมีปัญหาเรื่องการพูดช้าไม่ค่อยชอบพูดอะไรอย่างเงี้ย แล้วก็พาไปบำบัดเรื่องความเร็วในการพูด

เขาก็แนะนำว่าการกระตุ้นเขา คือ การอ่านหนังสือไปพร้อมกับลูกแต่ผมขี้เกียจผมก็จะใช้วิธีแบบว่าพอจะนอนแล้วผมบอกให้ลูกเล่านิทานก่อนนอนให้ผมฟัง ให้เขาเล่าอะไรก็ได้ เขาก็จะถามว่าอยากฟังเกี่ยวกับอะไรผมบอกว่าอยากฟังเกี่ยวนิวยอร์ก เดี๋ยวเขาก็โม้เรื่องเกี่ยวกับนิวยอร์ก ผมบอกผมอยากฟังเรื่องอวกาศ เขาก็จะเล่าเรื่องอวกาศผมก็จะคอยยกหัวข้อให้เขาฝึกพูด

เทคนิคพูดตรงข้าม ได้ผลกว่าที่คิด

พ่อกอล์ฟ :  ปอล์ฟเป็นคนที่สอนตรงๆ ไม่ได้ เขาเป็นคนที่กวนโอ๊ยมาก พยายามจะพูดเรื่องซีเรียสอะไรก็ตามจะต้องพูดอ้อมๆ อย่างเช่นแบบ เวลาผมจะถ่ายรูปเขาอย่างเนี่ย ผมต้องบอกว่าขอร้องอย่ายิ้มได้ไหม แล้วเขาถึงยิ้ม พูดตรงข้ามบ้าง บางทีใช้เทคนิคพูดตรงข้าม พูดว่าอย่าลองทำอย่างนี้นะ อย่าลองวาดตึกนิวยอร์กที่มันมีหอไอเฟลอยู่ใกล้ๆ นะ เขาก็ลองเริ่มวาดตาม เป็นการท้าทายเขาแทน

พอเรารู้แล้วว่าเขา คือคนที่สอนไม่ได้ ไม่ชอบทำตามคำสั่ง ผมก็เลยไม่สั่ง และผมก็คิดแค่ว่า ดูท่าทางเขาไม่ค่อยเคารพผมด้วยนะ เขากลัวแม่มากกว่าผม ผมก็เลยตัดสินใจ งั้นเป็นเพื่อนเขาละกัน ในบ้านนั้นก็คือ  แฟนเหมือนมีลูก 2 คน ผมเป็นลูกคนโต

IPAD ไม่มีประโยชน์กับเด็กจริงหรือ?

พ่อกอล์ฟ :  ผมก็แปลกอย่างนะบางที เวลาผมเห็นลูกเล่นไอแพดเนี่ย คือ ความจริงผมรู้นะว่าเด็กเนี่ยไม่ควรเล่นไอแพด แต่บางทีเวลาผมเหลือบไปที เวลาเขาดูอะไรในไอแพดเนี่ย เขาดูโครงสร้าง 3 มิติ ของตึกที่เขาสนใจ ผมก็รู้สึกว่า ถือว่าเป็นการเรียนรู้ มันก็คือเหมือนหนังสือแต่เป็นดิจิตอล

แต่ผมอาจจะผิดไม่ใช่ตัวอย่างเด็กไม่ควรเล่นแท็บเล็ต แต่ว่ากรณีของลูกผมเนี่ย บางทีผมหันไปเหลือบในไอแพดอ่ะ ที่เขาดูอยู่คือเป็นภาพ 3 มิติที่เทพีเสรีภาพเต้นได้ คือมันก็กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์  เพราะมันมีคลิปอะไรที่มันแบบ เขาพยายามจะพิมพ์คำว่า crazy ตึก ก็กลายเป็นตึกเต้นได้ มันก็เป็นการที่เขาได้เห็นอะไรที่มันแบบเด็กไม่ควรเห็น แปลกใหม่ครับ

เป้าหมายของพ่อกอล์ฟ

พ่อกอล์ฟ :  เป้าหมายผมไม่เหมือนพ่อแม่คนอื่นนะ ผมจะไม่มีเป้าหมายว่า พยายามเก็บเงินให้เยอะที่สุด เพื่อจะเอาไปให้ลูกสบายที่สุด แต่ผมมีเป้าหมายว่า งั้นเราต้องใช้ชีวิต เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าเกิดทำงานในสิ่งที่ตัวเองรัก ในสิ่งที่ตัวเองชอบ มันสามารถพอเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้บ้าง

ผมอยากให้ลูกผมเห็นว่า มันมีคนทำงานด้วยความสนุกทุกวัน มันเป็นไปได้ ก็เลยเอามาเป็นแรงจูงใจ ว่าถ้ามีถึงตอนนึงที่เราต้องทำงาน และเราไม่มีความสุขกับงานแล้ว อะไรแบบนี้ เราจะเคารพความรู้สึกตัวเอง และก็เลือกเส้นทางที่คิดว่าเราอยากจะทำจริงๆ เพื่อให้ลูกเห็นเป็นตัวอย่างว่า ขนาดพ่อพ่อยังทำได้เลย

ถ้าเปรียบครอบครัว  เป็นหนังโฆษณา

พ่อกอล์ฟ :  คงเป็นโฆษณาหนังตลกซิดคอมเมดี้ หัวเราะตึงโป๊ะนะครับ บ้านผมเป็นอย่างนี้เลย เช่น แบบบางทีได้ยินเสียงกรี๊ด ผมเดินลงไปผมอยู่อีกห้องนึงตอนอยู่ที่จีน ได้ยินเสียงกรี๊ดเดินลงไปปุ๊บ เห้ยอ้วกอยู่เต็มหัวแฟนผมเลย ลูกผมอ้วกใส่หัวแฟน แล้วผมก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ป๋อมก็บอกว่าเอาลูกมาเขย่าๆเล่นๆ แต่เขาเพิ่งป้อนข้าวลูกเสร็จไง ผมก็เลยสมน้ำหน้าเนี่ยชีวิตผมเป็นอย่างเนี่ย

จุดเริ่มต้นของเพจ Write to Share

พ่อกอล์ฟ :  คือเริ่มต้นผมแค่อยากลองคิดว่าตัวเองเป็นนักเขียนได้ไหม ก็เลยเขียนเล่นๆ ในเพจตัวเอง เพจส่วนตัวก่อน ยังไม่ใช่ Write to Share ผมก็ลองเขียนเล่นๆ บทความเเรกก็เขียนเรื่องปอล์ฟแหละ และก็เขียนเรื่องแฟน เขียนเรื่องครอบครัว เขียนไปเขียนมา มันเขียนทุกวัน จนมันเป็นร้อยๆ บทความ ก็มีคนเข้ามาบอกว่า ทำไมไม่รวบรวมเป็นเพจล่ะ ผมก็เลยสร้างเพจขึ้นมาและก็รวบรวมเอางานที่เคยเขียนมารีโพสต์ใหม่

พอเขียนใหม่ผมก็เขียนในเพจนี้และ แต่ว่าหลังๆ ก็เขียนน้อยแล้ว เพราะผมรู้สึกว่าอะไรที่ผมอยากเล่า อยากแชร์อ่ะ มันเหมือนแชร์ไปหมดแล้ว และผมคิดด้วยว่า ผมจะพิมพ์ต่อเมื่อผมมีบางอย่าง Have something to share ที่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์ผมถึงจะพิมพ์อะไรอย่างเงี้ย

อยากฝากอะไรถึงพ่อแม่ในสมัยนี้?

พ่อกอล์ฟ :  ที่อยากจะแชร์คือว่า ตอนที่ผมเขียนหนังสือบทความเมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์ และผมให้เบอร์มือถือผม มีคนโทรเข้ามาหาผมหลายคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แล้วเด็กวัยรุ่นหลายคนมากที่เขาอยากฆ่าตัวตาย เพราะพ่อแม่กดดัน

แรงกดดันพ่อแม่ทำให้เด็กเป็นโรคซึมเศร้าสูงมาก อย่าคาดหวังสูง และก็อย่าทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ไปยัดเยียดให้กับเด็ก อะไรที่เราไม่ชอบทำอย่าให้เด็กทำ พ่อแม่สมัยเด็กอาจจะไม่อยากให้เด็กทำการบ้านก็ได้ แต่ว่ากลับบ้านมา ต้องพูดคำนี้ ทำการบ้านแล้วรึยัง? บางทีการที่เรารักเขา บวกกับการคาดหวังเขามากเกินไป คือการทำร้ายเขาอย่างรุนแรงที่สุดนะครับ