Parents One

6 กฎเหล็ก สอนลูกเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์แบบง่ายๆ

ปัญหา “เด็กติดเกม” ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายครอบครัว แถมมีแต่จะเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ถ้าเราลองมองมุมกลับว่าการเล่นเกม คือกิจกรรมที่ครอบครัวได้ทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยกันจะดีกว่าไหม เราไปดู 6 กฎเหล็ก สอนลูกเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์แบบง่ายๆ กันเลยค่ะ

ลูกเล่นอะไร เราก็เล่นด้วย

เมื่อห้ามลูกเล่นเกมไม่ได้ ก็ไปเล่นกับลูกซะเลยสิ เราจะได้รู้ว่าเกมนั้นมันสนุกอย่างไร แล้วทำไมลูกถึงชอบเล่นเหลือเกิน ที่สำคัญ คือ เราจะได้คุยภาษาเดียวกับลูกรู้เรื่องด้วยค่ะ

วิธีนี้นอกจากลูกจะมีเพื่อนเล่นเกมแล้ว ยังทำให้คุณพ่อคุณแม่ได้เรียนรู้ภาษาเดียวกันกับลูกอีกด้วย เราต้องทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่คือเพื่อนของเขา ที่สามารถปรึกษาได้ทุกๆ เรื่องนั่นเองค่ะ โตขึ้นเขาจะไม่มีความลับกับเรา เขาจะบอกโดยที่เราไม่ต้องถาม นั่นก็เพราะเขาไว้ใจเรา และเห็นเราเป็นที่ปรึกษาได้จริงๆ นั่นเอง

 

สอนลูกให้รู้จักจัดการเวลา

สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งเวลา เพื่อไปทำกิจกรรมอย่างอื่นที่มีประโยชน์บ้าง ไม่ใช่แค่เล่นเกมไปวันๆ แต่จงสอนลูกว่าการเล่นเกมเป็นเหมือนการพักผ่อนคลายเครียดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ควรมีจำกัดเวลาในการเล่นของเขาให้ชัดเจน เพื่อลูกจะได้วางแผนทำสิ่งต่างๆ ต่อไปได้อย่างถูกต้อง เมื่อเขาโตขึ้นเขาจะได้รู้จักการจัดลำดับเป็นในการทำสิ่งที่สำคัญก่อน และหลังตามมาค่ะ

 

พาลูกไปเล่นกิจกรรมอื่น

วิธีที่ทำให้ลูกเล่นเกมเป็นเวลา นอกจากเราจะต้องกำหนดเวลาอย่างชัดเจนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องคอยหมั่นพาลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่พวกเขาอยากลองทำนอกบ้านบ้าง เช่น พาลูกไปปั้นดินเผา หรือไปดูสวนสัตว์ เพื่อให้ลูกได้ลองทำสิ่งต่างๆ นอกจากมองหน้าจอตลอดเวลาบ้างนั่นเอง

 

เลือกเกมเสริมพัฒนาการให้ลูกเล่น

เกมมีหลากหลายประเภทมากๆ เลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกเกมที่ให้ลูกได้เล่นเพื่อเสริมพัฒนาการมากกว่าการเล่นเกมเพื่อความบันเทิงเพียงอย่างเดียว เจ้าตัวเล็กจะได้ฝึกสมอง ประลองปัญญาความรู้ต่างๆ ไม่ใช่ต้องการแต่เป็นผู้ชนะเพียงอย่างเดียว ลูกจะได้มีไหวพริบในการกระบวนการคิดต่างๆ มากกว่าเดิมนั่นเองค่ะ

 

อย่าห้ามลูกเล่นเกม แบบหักดิบ

รู้หรือไม่คะ ว่าสาเหตุหลักที่ครอบครัวทะเลาะกันเรื่องเล่นเกม มักมาจากการห้ามเล่นเกมแบบหักดิบของคุณพ่อคุณแม่ที่มักจะไม่ยอมบอกเหตุผลให้ลูกได้รับรู้ และการไม่ยอมพูดคุยกันดีๆ ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน โดยไม่ให้อีกฝ่ายรู้ถึงเหตุผลที่แท้จริง ผลที่ตามมาจึงกลายเป็นแรงปะทะที่รุนแรงสุดๆ ได้เลยค่ะ

 

พูดทั้งข้อดี + ข้อเสีย ของการเล่นเกมให้ลูกรู้ด้วยเหตุผล

เหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ ไม่ว่าสิ่งไหนๆ ก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น การเล่นเกมของลูกก็เช่นกัน หากเราพูดกับลูกดีๆ ถึงข้อดี และข้อเสียต่างๆ ด้วยเหตุผลให้ลูกเข้าใจ กล้าถาม กล้าตอบ ลูกก็จะรับรู้ได้เองว่าสิ่งเหล่านี้ถ้าเราเล่นมันมากๆ มันก็จะกลายเป็นผลเสียต่อตัวเราได้ แต่หากเราเล่นเกมแบบพอดี การเล่นเกมนั้นก็จะช่วยเราคลายเครียดสมองได้มากเช่นกัน

 

การที่ลูกเล่นเกมไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดีเสมอไป เพราะอยู่ที่มุมมอง และทัศนคติของเรามากกว่าว่าจะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และความประพฤติของลูกให้ยอมเชื่อฟังได้มากแค่ไหน หากครอบครัวเอาน้ำร้อนลูบ ผิวลูกก็จะถูกลวกด้วยคำพูดที่ทิ่มแทงใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ง่ายๆ แต่ถ้าหากลองเอาน้ำเย็นเข้าลูบ แล้วอธิบายด้วยเหตุผล พูดคุยกับลูกแบบดีๆ ลูกก็จะยอมรับฟังความคิดเห็นของเรานั่นเองค่ะ

 

สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์