Parents One

ปกป้องสิทธิ์ตัวเองได้ ปฏิเสธเป็น สอนลูกให้รู้จักพูดคำว่า “ไม่”

เป็นปกติที่เมื่อถึงวัยหนึ่ง พอเจ้าหนูเริ่มเข้าใจสิ่งที่ตัวเองชอบหรือไม่ชอบ เขาก็เริ่มที่จะเรียนรู้การปฏิเสธคุณพ่อคุณแม่ หรือปฏิเสธที่จะทำกิจกรรมที่เขาไม่ชอบเป็นปกติ นับได้ว่าพูดคำว่าไม่ได้ทั้งวันเชียวค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะ ว่าเจ้าคำสั้น ๆ ว่าไม่นี่ล่ะ เป็นคำที่มีประโยชน์มาก ๆ สำหรับลูกเลยทีเดียว

หลายครั้งเด็กมักถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัวโดยคนรอบข้างเพียงเพราะว่าเขาอายุน้อยกว่า และยิ่งเมื่อเขาโตขึ้น ก็จะมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตที่จำเป็นต้องปฏิเสธเพื่อปกป้องตัวเองค่ะ ซึ่งคำง่าย ๆ คำนี้นั้นจำเป็นต้องฝึกฝนให้ขึ้นใจ ให้เขามีความมั่นใจที่จะปฏิเสธคนรอบข้างที่อาจเอาเปรียบเขาได้ มาดูประโยชน์ของคำว่าไม่จะมีอะไร และสอนเขาอย่างไรได้บ้าง

 

คำว่าไม่มีประโยชน์อย่างไรบ้าง?

ป้องกันตัว: ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนว่าลูกเราก็ควรรู้จักการปฏิเสธเพื่อป้องกันตัวเช่นกันค่ะ ไม่ว่าจะป้องกันจากการทำร้ายร่างกายหรือโดนล่วงละเมิดทางเพศ เขาควรรู้ที่จะหัดตะโกนขอความช่วยเหลือ ปฏิเสธการกระทำดังกล่าว รวมกับการป้องกันตัวทางร่างกายอย่างการเตะต่อย สิ่งที่สำคัญคือเจ้าตัวน้อยควรรู้ว่าร่างกายของเขาเป็นของสำคัญ ไม่ควรให้คนอื่นจับต้องหรือสัมผัสหากเขาไม่ต้องการ การปฏิเสธคือการป้องกันตัวอันดับแรกค่ะ

รักษาความเป็นตัวของตัวเอง: บางครั้งเจ้าตัวน้อยอาจจะถูกถามหรือขอให้ร่วมกิจกรรมบางอย่างที่เขาอาจจะสนใจหรือไม่ การที่เขาเรียนรู้ที่จะหนักแน่นกับความชอบและไม่ชอบของตัวเอง ก็ทำให้เขาเลือกที่จะเข้าร่วมในสิ่งที่ชอบได้ถูกค่ะ

เสริมสร้างความมั่นใจ: การปฏิเสธอย่างสุภาพและมั่นใจนั้นจะช่วยทำให้เจ้าตัวน้อยกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เขาเรียนรู้ที่จะรักและปกป้องตัวเองอีกด้วย

 

เรียนรู้วิธีปฏิเสธ

1) เปิดรับความเห็นที่แตกต่าง

พูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างใจเย็นเมื่อเขาแสดงความเห็นที่แตกต่างจากเราอย่างสุภาพ ชวนเขาถกในประเด็นนั้นและให้ความคิดเห็นโดยไม่ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง สิ่งนี้จะช่วยปลูกฝังให้เขาเรียนรู้วิธีการแบ่งปันความคิดเห็น ความชอบอย่างมั่นใจ โดยไม่ก้าวก่ายความชอบและความรู้สึกของผู้อื่น

 

2) แสดงภาษากายที่ชัดเจน

เป็นแบบอย่างให้เขาโดยการแสดงภาษากายให้ชัดเจน สบตาคู่สนทนา และใช้ภาษากายที่เหมาะสมกับสิ่งที่กำลังสื่อสารอยู่

 

3) แค่คำว่า “ไม่” อาจไม่เพียงพอ

สอนให้เขาเข้าใจว่าบางครั้งแค่พูดว่า “ไม่” อาจไม่สามารถสื่อความต้องการได้ทุกอย่าง ควรให้เขายกเหตุผลมาอธิบายการปฏิเสธทุกครั้งด้วย ว่าต้องการปฏิเสธเพราะอะไร เพื่อให้คู่สนทนาของเขาเข้าใจเหตุผลและความรู้สึกของเจ้าตัวน้อยนั่นเอง

 

4) พูดครั้งเดียวก็ไม่พอ

ในหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะถูกคะยั้นคะยอจากญาติผู้ใหญ่หรือเพื่อนฝูงรอบข้าง บางทีการปฏิเสธครั้งเดียวอาจไม่ได้ผลนัก การถูกโน้มน้าวจากคนอื่นบ่อยๆ ก็อาจทำให้เขายอมทำตามในที่สุด สอนให้เขาเข้าใจว่าบางทีการปฏิเสธนั้นต้องใช้ความหนักแน่นและการย้ำเตือนบ่อย ๆ เพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง

 

5) การปฏิเสธ ไม่ได้เท่ากับการตัดขาด

การปฏิเสธที่จะทำหรือเข้าร่วมอะไรบางอย่าง ไม่ได้แปลว่าตัดขาด หรือเลิกคบค้าสมาคมกับเพื่อนหรือคนรอบตัว เน้นย้ำให้เจ้าตัวน้อยเข้าใจว่าเราสามารถเห็นต่างแต่เข้าใจกันได้ เพราะคนเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับเรื่องเดียวกันทั้งหมด การมีความคิดที่แตกต่างเป็นเรื่องปกติของชีวิต และให้เขาอธิบายให้เพื่อนหรือคนรอบข้างรู้ว่าเขาเข้าใจในความแตกต่างของทุกคน