Parents One

ช่วงเวลายาขมแปลงกาย! 5 กลเม็ดเด็ดพาเด็ก ๆ สนุกกับการกินยา

แค่พูดคำว่า “ยา” ลูกก็เบือนหน้าหนีแล้ว จะบังคับขู่เข็ญให้กินก็สงสารลูกเหลือเกิน แต่บทจะให้ปล่อยไปเฉยๆ ก็จะพาลไม่หายป่วยเอาน่ะสิ วันนี้ขอชวนคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านมาเปลี่ยนช่วงเวลายาขมให้สนุกสนาน กลายเป็นวินาทีที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ด้วย 5 กลเม็ดง่ายๆ เหล่านี้ที่ไม่ว่าใครใครบ้านไหนไหนก็ทำได้ เสกปิ๊งเรียกความสนุกได้ราวกับมีเวทมนตร์ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ

1. ทำความรู้จักอุปกรณ์ : ก่อนที่จะป้อนยาให้เวลาลูกได้ลองจับ ลองสัมผัสอุปกรณ์ในการป้อนยา เช่น กระบอกฉีดยา ที่หยอดจมูก หรือถ้วยตวงยา เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย และได้รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้ปลอดภัย ไม่ทำให้เจ็บ ไม่น่ากลัว แถมยังนำพายาเข้าไปในร่างกาย ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วย ทำให้ลูกแข็งแรงอีกด้วย

2. สีสันสวยงาม ดึงดูดใจ : ไม่ว่าจะยาน้ำหรือยาเม็ดก็มักจะมีสีชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยจำแนกได้ มองเผินๆ ยาบางชนิดก็มีสีสันน่ารักด้วยซ้ำไป คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้จุดเด่นข้อนี้ของยามาดึงดูดความสนใจของลูก ชี้ชวนให้ดูว่ามียาสีอะไรบ้าง และให้ลูกลองเรียงลำดับว่าอยากจะเริ่มกินยาสีไหนก่อน แต่ก็ต้องคอยควบคุมดูแลการกินยาอย่างใกล้ชิดและย้ำกับลูกเสมอนะคะว่านี่คือยา ไม่ใช่ขนมหวานที่จะหยิบกินตามใจชอบได้

3. รับบทนักรีวิวกันซะหน่อย : “สวัสดีค่ะ วันนี้ไม่สบาย คุณหมอให้ยามาเยอะแยะเลย มาดูกันสิคะว่ามียาอะไรบ้าง!” ดู YouTube เล่น TikTok อยู่บ่อยๆ เชื่อว่าเด็กๆ คงจะมีสกิลติดตัวมาไม่น้อย ลองให้ลูกสวมบทบาทเป็นนักรีวิว กินยาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เล่าให้พ่อแม่ฟังได้ไหม ถือเป็นการชวนคุยสะท้อนความรู้สึกของลูกไปในตัว งานนี้คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมใช้สกิล Acting ยิ่งใหญ่เข้ามาร่วมด้วย เพื่อความสนุกสนาน ตื่นเต้นยิ่งขึ้นนะคะ

4. มอบคำชมเป็นรางวัล : คำชมของคุณพ่อคุณแม่มีความหมายต่อจิตใจของลูกเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องไหนๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถเอ่ยปากชื่นชมลูกได้เต็มที่โดยไม่ต้องกลัวเขาเหลิงเลยค่ะ แม้แต่กับเรื่องการกินยา เพราะสำหรับเด็กๆ แล้ว การต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือกลัวเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความกล้ามากทีเดียว

5. เป้าหมายมีไว้พุ่งชน! : ช่วงโค้งสุดท้ายของการกินยา อย่าลืมอัปเดตความคืบหน้าให้ลูกฟังว่าตอนนี้กินยาไปมากเท่าไรแล้ว จะต้องกินอีกกี่ครั้ง กินอีกแค่ไหน และคอยแสดงความยินดีอย่างตื่นเต้นทุกครั้งที่ยาลดลง เพื่อให้ลูกมีกำลังใจ มีความหวังว่าการกินยาใกล้จะจบลงในอีกไม่นาน

วิธีทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเหมาะกับเด็กๆ ที่เริ่มสื่อสารโต้ตอบได้แล้ว แต่สำหรับเด็กเล็กก็ต้องลองปรับประยุกต์เทคนิคกันไป หวังว่า 5 วิธีที่ Parents One นำมาฝากวันนี้ จะช่วยคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่มากก็น้อย และหวังว่าช่วงเวลากินยาที่เด็กๆ เคยร้องไห้จ้า เบะปากหันหนี จะกลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้เรียนรู้และเติบโตนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของพี่กิ๊ฟ คุณแม่น้องอาโปและน้องอาญ่าค่ะ