Parents One

[แชร์ประสบการณ์] ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจาก คุณตุ๊ก Little Monster

คุยกับคุณตุ๊ก นิรัตน์ชญาคุณแม่จากเพจ Little Monster ถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ใครจะรู้ว่าคุณเเม่อารมณ์ดีอย่างพี่ตุ๊กแห่งเพจ little monster ที่มาพร้อมกับตัวการ์ตูนน่ารักๆ บ่งบอกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวแบบอบอุ่น ที่มีสมาชิกในครอบครัวอย่าง พี่เหว่ง(สามี) กับน้องจิน น้องเรนนี่ ลูกสาวทั้งสองคน จะเคยเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่า “ภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด” มาด้วย เราเลยมาคุยกันถึงช่วงเวลานั้น เพื่อเเบ่งปันประสบการณ์ให้กับเหล่าคุณเเม่กันค่ะ

ทำไมถึงรู้ว่าตัวเองมีอาการนี้

คุณตุ๊ก: ส่วนตัวเป็นคนขี้กังวล ก่อนคลอดก็จะนอยด์เพราะตื่นเต้นด้วย หลังคลอดเเรกๆ ก็คิดว่า คลอดปุ๊ปนะฉันจะเลี้ยงลูก ทำงาน ทำทุกอย่างที่แพลนจะทำไว้ก่อนคลอด แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่มีอะไรเป็นไปตามที่คิดสักอย่าง เเละสิ่งที่รู้สึกชัดเจนว่าผิดปกติคือ เราไม่มีความรู้สึกอยากจะอุ้มลูกเลย ซึ่งมันแปลกมากและเป็นหนักขึ้นหลังจากกลับมาบ้านเเล้ว ตอนนั้นไม่กล้าอาบน้ำให้ลูก กลัวลูกจมน้ำตายเพราะเรา คิดเต่เรื่องเเย่ๆ กลัวทำลูกตก รู้สึกเศร้า หดหู่ตลอดเวลา

ซึ่งน้องจินมีภาวะตัวเหลือง คุณหมอเเนะนำว่าให้อุ้มลูกไปโดนแดดอ่อนๆ ตอนเช้า จุดพีคคือตอนอุ้มเขาออกมาที่ระเบียงแล้วแหงนมองฟ้า ตอนนั้นจำได้ว่าร้องไห้ออกมาไม่หยุดแบบไม่มีเหตุผล เริ่มกังวลใจแล้วว่าตัวเราเป็นอะไรหรือเปล่าเลยไปกูเกิ้ลอาการที่เป็นดู และอาการที่เจอก็ตรงทั้งหมด ในเว็ปบอกไว้ว่าอาการแบบนี้จะหายไปเองถ้ารักษาอย่างถูกวิธี ตุ๊กเลยตัดสินใจไปปรึกษาหมอ

ความรู้สึกตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง

คุณตุ๊ก: คนภายนอกจะไม่ทราบเลย เพราะไม่ได้เเสดงออก ตอนนั้นเรายิ้มเเต่ไม่ได้หัวเราะ เเละความรู้สึกคือไม่อยากให้ใครมาเยี่ยม เลยจะโกหกคนที่อยากมาเยี่ยมว่าตัวเองไม่สะดวกบ้าง ไม่อยู่บ้าง ซึ่งจากที่คุยมาหลายๆ คนที่มีอาการแบบนี้ มักจะคิดว่าเพราะตัวเองเป็นแบบนี้ เเต่ในความเป็นจริงคือมันเกิดจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากคลอดลูก

ในตอนที่เป็นคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจ คิดเเค่ว่าเราอาจจะเหนื่อย หงุดหงิด เเต่ไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะโรคนี้ ช่วงก่อนจะคลอดลูกเป็นคนทำงานหนัก เพราะเป็นฟรีเเลนซ์เเละรับงานเยอะมาตลอด นิสัยจริงๆ คือชอบทำงานด้วย เเต่พอมีลูก ชีวิตมันเปลี่ยนจนเราตั้งรับไม่ทัน เราไม่ได้เตรียมใจรับมือกับความเปลี่ยนแปลงขนาดนี้ อาการมันเลยเเย่ลง ประกอบกับสิ่งที่คาดหวังไว้ไม่ได้เกิดขึ้นเลย บวกกับความที่เราเป็นแม่มือใหม่เพิ่งมีลูกคนแรก ​เลยทำให้ยังไม่รู้อะไรมากนัก

มีอะไรที่เรารู้สึกบ้างว่าพอเป็นแม่เเล้วมันไม่เป็นไปตามคาด

คุณตุ๊กอย่างเเรกคือมีความเชื่อว่าพอคลอดเเล้วพุงจะหายไปเลย 555+ อันนี้คิดทีไรก็ขำตัวเองนะ เเต่ตอนนั้นขำไม่ออก มองกระจกทีไรก็ร้องไห้ คิดในใจนี่คนหรือหมู นอกจากนั้นผมยังร่วงเยอะมาก คอคล้ำ เดินผ่านกระจกจะคิดตลอดว่าผู้หญิงคนนี้คือใคร ตอนกลางคืนก็แอบไปร้องไห้ในห้องน้ำสลับกับลุกขึ้นมาให้นมลูก วนไปอย่างนี้จนแทบไม่มีเวลาพักหรือนอนหลับเต็มตาเลย และการที่เราพักผ่อนน้อยมากๆ มันส่งผลให้ทุกอย่างเเย่หมด ถึงขนาดที่เราบอกกับสามีทั้งน้ำตาว่า “รนหาที่เนอะ” ในการมีลูก ซึ่งความคิดแบบนี้มันยิ่งทำให้เรารู้สึกผิดและเศร้ามากๆ เพราะคนเป็นแม่ไม่ควรจะคิดอะไรแบบนี้

แรงกระทบจากคนรอบข้าง

คุณตุ๊กคำพูดที่เจอเเล้วไม่โอเค ส่วนใหญ่เป็นคำพูดที่คนพูดไม่ได้ตั้งใจ เเต่เป็นคำที่ได้ยินเเล้วเรากลับรู้สึกแย่ คือ “จบมาตั้งสูง เสียดายความรู้นะ” “อยู่บ้านเลี้ยงลูกสบายๆ ให้สามีเลี้ยงดีจะตายไป” ตอนนั้นเราอยู่บ้านเลี้ยงลูกอย่างเดียว เป็นคำพูดที่ได้ยินบ่อยมากๆ ซึ่งคนพูดไม่ได้คิดอะไร เเต่พอได้ยินบางคนพูดเเล้วเราก็ร้องไห้ต่อหน้าเขาเลย อาจจะเพราะฮอร์โมนด้วยหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่มันเหมือนไปจี้ปมของเราพอดี

มีผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกไหม

คุณตุ๊ก: ไม่ได้มีผลกระทบชัด เเต่มีสิ่งที่ทำให้อาการซึมเศร้าเเย่ลง คือ “อาการท่อน้ำนมอุดตัน” เป็นความทรมานด้านร่างกายที่ถ้าใครไม่เคยเป็นจะไม่รู้เลยว่ามันทรมานมากจริงๆ ซึ่งพอเรารู้ว่าเป็นซึมเศร้าหลังคลอดและได้ไปปรึกษาหมอ อาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ และช่วงหลังๆ เริ่มปรับตัวได้ ลูกก็เริ่มกินนอนเป็นเวลา ทำให้เริ่มมีเวลาพักและได้ไปทำงานมากขึ้น ตอนที่รู้สึกว่าทุกอย่างเริ่มลงตัว ตอนนั้นจินอายุประมาณ  7 เดือน เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกว่าโชคดีจังที่ได้เกิดเป็นแม่ รู้สึกตัวเองแฮปปี้มาก

ทำยังไงถึงจะผ่านช่วงเวลาแบบนั้นไปได้

คุณตุ๊ก: จากตอนที่มองดูลูกเเล้วคิดว่า “ไม่น่ารนหาที่” ตอนนี้มันผ่านอะไรมาหลายอย่าง ได้รับการคอนเฟิร์มจากหมอว่าอาการที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของร่างกายไม่ใช่จากเราเอง หลายคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ เเละสิ่งสำคัญที่ทำให้ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้คือความคิดที่ว่า วันนึงเราต้องหาย เลยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องหายให้ได้ เมื่อมีจุดหมายปลายทางที่เชื่อมั่นว่าเราจะหายจากโรคนี้ มันก็จะเป็นไปได้

ในส่วนของวิธีการ คุณหมอเเนะนำว่าให้ไปหาสิ่งที่ชอบทำ แต่หากยังมีอาการอีกก็อาจต้องกินยาร่วมด้วย ตุ๊กเลยไปหาโน่นนี่ทำ ตอนนั้นเขียนไดอารี่ เพราะรู้สึกว่าการเขียนคือการระบาย เเละหมอเเนะนำว่าต้องออกไปเจอผู้คนนอกบ้านบ้าง เเต่ยังไม่กล้าออกไปเพราะยังมีความกลัวที่ว่าถ้าพาลูกออกไป ตอนนั้นจินอายุได้ 2 เดือน เเล้วถ้าลูกไปร้องไห้ในที่สาธารณะ เราจะทำอย่างไร ไม่ออกไปไหนจนจินเข้าเดือนที่ 5 ออกไปเเค่ซื้อของ หาหมอ ฉีดวัคซีน เท่านั้น อยู่บ้านตลอด เเต่ดีขึ้นเพราะสามีจะรีบกลับบ้านมาดูเเล อาจเพราะเราดูค่อนข้างน่าเป็นห่วง อาการก็ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

ฝากถึงคุณแม่ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการเเบบนี้

คุณตุ๊ก:  หลายครั้งที่อาการซึมเศร้าจะแย่ลงเพราะคนรอบข้างไม่เข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คนที่เศร้าอยู่เเล้วยิ่งตีค่าตัวเองต่ำลง บางคนบอกว่าก็ไปหาหมอสิ คืออยากจะบอกว่าบางครั้งคนที่เป็นก็ไม่รู้ตัวเองหรอกว่าเราเป็นอะไร รู้แค่ว่าเรารู้สึกเศร้าและพร้อมที่จะจมอยู่กับความเศร้านั้น บางทีก็ไม่ได้อยากระบายหรือคุยกับใคร แต่ตุ๊กอยากจะบอกคนที่เจอภาวะซึมเศร้าอย่างที่ตุ๊กเคยเจอว่า คุณไม่ได้ผิดปกติอะไร เเละคุณไม่ได้ตัวคนเดียว

สิ่งที่ช่วยให้ตุ๊กหายได้ และหวังว่าความคิดนี้จะช่วยให้แม่ๆ หลายคนหายได้ คือ ให้คิดเสมอว่าเราไม่ได้ตัวคนเดียวอีกเเล้ว เเต่เรามีลูก เรามีพ่อเเม่ สามี เราเป็นคนสำคัญในชีวิตใครอีกหลายคนมากมายเต็มไปหมด เเละสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ลูก” พอเรามีลูก เราจะรู้สึกว่าเราเป็นอะไรตอนนี้ไม่ได้ เราจะต้องหาย ให้เอาจุดหมายปลายทางที่ว่าเราจะดีขึ้นเป็นที่ตั้ง เเล้วเราจะหาย

จากการที่ได้คุยกับคุณตุ๊กเราพบว่า “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” หรือ Baby blue ที่มักเจอกันในเหล่าคุณเเม่ สามารถหายได้ถ้าได้รับการดูเเลที่ถูกต้อง เเละสิ่งที่สำคัญมากๆ คือความรัก ความเข้าใจ จากคนรอบข้างนั่นเองค่ะ