Parents One

การเตรียมตัวลูกคนเเรกให้พร้อม เมื่อคุณเเม่ต้องมีน้องอีกคน

 

นอกจากเตรียมตัวเรื่องดูเเลร่างกายของคุณเเม่ อีกอย่างที่สำคัญมากคือการเตรียมตัวพี่คนโตให้พร้อมสำหรับการมีน้อง ต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ลูกเคยเป็นเด็กคนเดียวในบ้าน เเละรุู้สึกว่าตัวเองเป็นที่หนึ่ง เลยไม่แปลกที่เขารู้สึกว่าถูกเเบ่งความรักไป มาดูกันค่ะว่าเราจะมีวิธีจัดการแบบไหนบ้างให้ลูกรู้สึกดีกับน้อง

ทำให้รู้ว่าเขากำลังจะมีน้อง

ถ้าอยากให้เขามีความรู้สึกที่ดีกับน้อง คุณเเม่ต้องค่อยๆ บอกลูกว่ากำลังจะมีน้อง เเละเขาไม่ได้เป็นเด็กคนเดียวอีกเเล้วนะ เเต่กำลังจะขยับมาเป็นพี่ โดยมีหลายวิธีในการสร้างคความคุ้นเคย เช่น เมื่อคุณเเม่กำลังท้องให้พี่ลองจับท้องเเล้วบอกว่า ” ในท้องเเม่มีน้องอยู่ข้างในนะ ” หรือให้หมั่นพูดคุยกับน้องในท้องเเล้วกอดท้องเเม่ (ให้รู้สึกเหมือนกอดน้องอยู่) อีกวิธีที่ดีมากคือการให้อ่านนิทานที่ในเรื่องมีพี่น้อง เช่น จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ซึ่งในเรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับพี่เล่นกับน้อง พี่แบ่งของกินให้น้อง เป็นการให้เขาซึมซับไปเรื่อยๆ จนชินในที่สุด

สอนให้แบ่งปัน

ควรสอนให้ลูกไม่หวงของ มีอะไรต้องรู้จักแบ่งปัน ทั้งของกินของเล่น เช่น ถ้าเขามีเล่นหลายชิ้นต้องแบ่งเพื่อน หรือฝึกง่ายๆ ด้วยของการแบ่งกินที่ลูกชอบ สมมุติถ้าลูกชอบทานองุ่นเวลาแกะถุงผลไม้จะต้องแจกให้ครบทุกคนก่อน แล้วตัวเองค่อยกินตาม จะทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับนิสัยรักการเเบ่งปันไปในตัว เมื่อเขามีน้องก็จะไม่ลำบากมากหากต้องแบ่งสิ่งของให้น้อง หรือต้องเสียสละบางอย่าง เเละทำให้ไม่รู้สึกแย่ว่าตัวเองกำลังเสียเปรียบ

ให้ใกล้ชิดกับญาติคนอื่นๆ

แน่นอนว่าถ้าคุณเเม่คลอดลูกคนที่สองก็จะทำให้มีเวลาสำหรับลูกคนเเรกน้อยลง เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้ลูกคุ้นเคยกับญาติคนอื่นๆ ไว้บ้าง เผื่อเวลาที่คุณเเม่ไม่อยู่ เช่น ชวนคุณตาคุณยาย มาพักค้างคืนที่บ้านบ้าง ให้ได้ดูเเลเเละเล่นกับหลาน เพื่อสร้างความคุ้นเคยให้ลูก

ไม่เปลี่ยนกิจกรรมที่ทำร่วมกัน

คุณพ่อคุณเเม่ไม่ควรเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำร่วมกับลูกไม่ว่าจะเป็น เล่นดนตรี เล่านิทานก่อนนอน ทำงานฝีมือ ร่วมกัน เพราะถ้าเราเปลี่ยนเป็นไม่ทำกิจกรรมกับลูกในสิ่งที่เมื่อก่อนเคยทำ จะทำให้เด็กรู้สึกโกรธเเละรู้สึกไม่ดีกับน้อง เพราะคิดว่าเป็นเพราะน้องที่ทำให้คุณพ่อคุณเเม่ไม่เล่นกับเราเหมือนเดิม

อย่าให้รู้สึกถูกผลักไส

อีกอย่างที่ไม่ควรทำอย่างยิ่งคือเมื่อลูกอีกคนคลอดมา เเล้วให้ลูกคนโตไปอยู่เนอสเซอรี่ เข้าโรงเรียนอนุบาล หรือไปอยู่กับคุณย่าคุณยายทันที เพราะจะเป็นความรู้สึกแบบเดียวกับข้อข้างบน นั่นคือเด็กๆ จะรู้สึกเสียใจว่าตัวเองถูกผลักไส เเละถูกเเย่งความรักไป

ตั้งกฎในการมาเยี่ยมน้อง

ช่วงเวลาที่คุณเเม่เพิ่งคลอดน้องมักจะมีเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง มาเยี่ยมบ่อยๆ เเละการมาเยี่ยมก็จะต้องตื่นเต้นกับลูกอีกคนที่เพิ่งออกมาลืมตาดูโลก จนบางครั้งตัวพี่ที่ยืนมองอยู่อาจน้อยใจได้ (เพราะเขายังไม่ชินกับการที่ตัวเองไม่ได้เป็นเด็กคนเดียวที่ทุกคนให้ความสนใจอีกเเล้ว) ดังนั้นคุณเเม่ควรตั้งกฎในการมาเยี่ยม เช่น ติดป้ายหน้าห้องให้คนที่มาเยี่ยมหยิบขนมให้พี่ 1 ชิ้น เมื่อเดินเข้ามา เเละสำคัญที่สุดคือต้องขอความร่วมมมือว่าห้ามพูดหยอกล้อลูกคนโต ว่าเดี๋ยวน้องคลอดมาพี่คนโตจะตกกระป๋องเเล้วนะ หรือเดี๋ยวทุกคนก็รักน้องมากกว่านะ เพราะการทำแบบนี้ถึงเเม้คนพูดจะไม่ได้คิดอะไร เเต่ก็ทำให้กระทบจิตใจเด็กได้

ปล่อยให้ลูกได้จัดการความรู้สึก

ถึงเเม้เราจะพยายามทำทุกทางเเล้วให้ลูกไม่รู้สึกน้อยใจ เเต่จิตใจของเด็กๆ ช่างอ่อนไหว ซึ่งเด็กบางคนปรับตัวได้ง่ายเวลาเเม่มีน้อง เเต่บางคนก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น ถ้าครั้งลูกมีพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก หรือเเสดงท่าทีว่าอิจฉาน้อง ก็ขอให้คุณพ่อคุณเเม่อย่าต่อว่าเด็กๆ รุนเเรง เเละไม่ควรรีบให้ลูกคนโตให้ดูแลน้อง เเต่ควรให้เขาค่อยๆ ปรับตัว เเล้วเขาจะกลายเป็นพี่ที่ดีในที่สุดค่ะ

อย่าลืมดูเเลตัวเอง

ถึงการเตรียมตัวลูกคนโตจะสำคัญเเค่ไหน เเต่คุณเเม่อย่าลืมการดูแลตัวเองนะคะ หลายคนมีอาการที่เรียกว่า Baby Blue หรือการ “ซึมเศร้าหลังคลอด” ซึ่งอาจเวียนมาอีกครั้งหลังคลอดลูกคนที่สอง เเละอาจทำให้คุณเเม่รู้สึกหดหู่ ไม่มีความสุข หลังจากที่คลอดน้อง

การที่พี่คนโตจะรู้สึกไม่ชอบน้อง หรือรู้สึกว่าถูกน้องเเย่งความรักเป็นเรื่องปกติ เพราะในวัยเด็กเป็นช่วงที่เขารู้สึกตัวเองคือศูนย์กลางของความรัก เเต่ขอให้เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะอาการเเบบนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ เพียงเเค่คุณพ่อคุณเเม่ต้องหาวิธีรับมือก็พอค่ะ 😀