Parents One

คุยกับครอบครัว ‘Little Monster’ Taiwan กับเรื่องราวน่ารู้เมื่อคลอดลูกที่ไต้หวัน

หากจะพูดถึงเพจที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่และลูกได้น่ารักมากๆ ทุกคนน่าจะนึกถึง “Little Monster” ของแม่ตุ๊ก พ่อเหว่ง น้องจินและน้องเรนนี่ แต่ทุกคนทราบไหมคะว่าเจ้าตัวมอนสเตอร์สีเขียวนี้ถูกนำไปแปลเป็นเวอร์ชันไต้หวันด้วยนะ โดยผู้ที่นำไปแปลก็เป็นคุณแม่ชาวไต้หวัน วันนี้เราเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักครอบครัว Little Monster ไต้หวันให้มากขึ้น รวมไปถึงเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับการคลอดลูกที่ไต้หวันมาฝากค่ะ

ครอบครัวเจ้ามอนสเตอร์ตัวเขียวที่ไต้หวันประกอบไปด้วย “คุณพ่อเหมา” ซึ่งเป็นชาวไทย “คุณแม่แซนดี้” ชาวไต้หวัน และหนูน้อยน่ารักอย่าง “น้องโอลิเวีย” ผู้ที่มากับรอยยิ้มสุดทะเล้น เราไปทำความรู้จักกับครอบครัวนี้ให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ

เมื่อคลอดลูกที่ไต้หวันมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?

คุณเหมา : รัฐบาลของไต้หวัน เขาค่อนข้างที่จะสนับสนุนและพยายามที่จะให้คนมีลูกอย่างไม่ได้ลำบากมากนัก คือเป็นสวัสดิการสุขภาพแห่งชาติ หรือ National Health Insurance  เช่น การไปตรวจครรภ์แต่ละครั้งในทุก ๆ เดือน จะมีค่าใช้จ่ายประมาณแค่ 100 – 1,000 บาท ซึ่งอันนี้ก็คือเป็นเรทของโรงพยาบาลเอกชนของไต้หวันแล้วด้วยนะครับ เพราะส่วนหนึ่งก็คือรัฐบาลจะสงเคราะห์เงินให้ 

อีกอันนึงที่น้องโอลิเวียได้จากสวัสดิการของไต้หวันเองก็คือ อั่งเปา อย่างของโอลิเวียได้ 20,000 บาทเลย พอคลอดเสร็จก็จะมีค่าใช้จ่ายรายเดือนโอนให้ทุกเดือนครับ เข้าบัญชีให้เลย 2,500 บาท/เดือน จนอายุ 2 ขวบ

ชอบเรื่องอะไรในสวัสดิการของไต้หวัน ?

คุณเหมา : ชอบ Training Center  ของ Nanny ครับที่ให้คุณปู่คุณย่าไปเรียนได้

คุณแซนดี้ : รัฐบาลจะมีคอร์สให้ตา-ยายไปเรียนถ้าเรียนเสร็จแล้วรัฐบาลจะจ่ายประมาณ 2,000 – 4,000 บาทแต่ถ้าได้ใบรับรองก็จะได้ 3,000 – 5,000 บาท

คุณเหมา : ใช่ครับ แล้วเขาก็ต้องการให้เด็กมีคนดูแลที่มีคุณภาพนิดนึง ก็เลยชักจูงให้คนสูงอายุมาเทรนการดูแลเด็กให้ถูกวิธี มีการให้ข้อมูลที่อัพเดท อาจจะทันโลกนิดนึงแล้วก็พอเรียนเสร็จจะได้กลับมาเลี้ยงหลานของตัวเองด้วย

ความสเปเชียลจากการฝากครรภ์ ?

คุณเหมา : คือมีคลินิกเอกชนที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในส่วนของการดูแลคุณแม่ที่กำลังจะคลอด ซึ่งถ้าเราไปหาหมอที่นั่น เขาก็จะมีแอปพลิเคชันที่ให้เราสามารถเข้าไป Follow Up ได้ว่าลูกเราตอนนี้เป็นสัปดาห์ที่เท่าไหร่ แล้วก็สัปดาห์ที่ผ่าน ๆ มาเนี่ย ตอนเราทำอัลตร้าซาวด์แล้ว พัฒนาการเป็นยังไงบ้าง ซึ่งมีรูป มีวิดีโอบันทึกให้เลย คือเก็บไว้ได้เลย 

อย่างการฉีดวัคซีนของไต้หวันเขาก็ดีเหมือนกันตรงที่เขาก็มี Follow Up ให้เลยว่า เราจะต้องฉีดวัคซีนเมื่อไหร่ แล้วคำว่าฉีดวัคซีน คือ ไม่ใช่บันทึกเฉย ๆ นะครับแต่เขาถ่ายเป็นรูปว่ามีการฉีดวัคซีนจริง ๆ มีข้อมูลว่าฉีดวันที่เท่าไหร่ วัคซีนชื่ออะไร ยี่ห้ออะไร คือเขามีการ Follow Up ตรงนี้เลย

ความพิเศษในการเลือกการคลอดเองได้ ?

คุณแซนดี้ : เหมือนเขาจะให้เลือกว่าคุณชอบแบบไหน ถ้าชอบแบบธรรมชาติ ไม่อยากให้ช่วยเหลือเยอะ ก็บอกหมอได้

คุณเหมา : อันนี้เท่าที่ผมเข้าใจก็คือ เหมือนเขาจะมีกระดาษแผ่นนึง ให้เราเลือกว่าเราอยากจะให้เขาคลอดให้แบบไหนตามความเชื่อ คุณหมอเขาจะได้ทำให้ถูก คือบางคนเขามีความเชื่อว่าต้องคลอดธรรมชาติ เขาก็ไม่อยากให้มีคนมาช่วยมากนัก แล้วก็ที่ไต้หวันหลัก ๆ ที่ผมสัมผัสได้ คือเขาไม่ค่อยอยากให้คนผ่าคลอด ดังนั้นคุณหมอไต้หวันเขาจะไม่ได้มีตัวเลือกมาถามเราว่าจะผ่าคลอดไหม เพราะเขาก็พยายามชวนทุกคนให้คลอดแบบธรรมชาติ 

สถานที่พักฟื้นสำหรับคุณแม่หลังคลอด

คุณเหมา : ที่ไต้หวันมีที่พักของคุณแม่หลังคลอด หรือที่เรียกว่า Postnatal Care Center ที่ดูแลแม่กับลูก คือเป็นเหมือนกับโรมแรมที่ให้คุณแม่ที่คลอดลูกแล้วแต่ยังไม่ได้กลับบ้านมาพักที่นี่ก่อน โดยเขาจะมีพยาบาลคอยดูแลลูกเราตลอด 24 ชั่วโมง คอยติดตามก็อาจจะมีกล้องให้เราดู ส่องที่ห้องพยาบาลว่าเขาดูแลลูกเราเป็นยังไงบ้าง 

ซึ่งเขาให้น้ำหนักกับคุณแม่ด้วยส่วนหนึ่งคือเขาอยากให้คุณแม่ได้พักผ่อนเต็มที่หลังจากที่เขาคลอด สมมุติว่าตอนนี้ถึงเวลาให้นมลูกที่เพิ่งคลอดก็จะโทรมาถามเราว่า คุณแม่อยากจะพักผ่อนต่อหรือว่าคุณแม่อยากจะให้นมลูกเอง ถ้าอยากให้นมเองก็จะมีพยาบาลเอาเด็กขึ้นมาส่งให้เรา โดยระหว่างที่เราพักที่นั่นก็จะมีคอร์สสั้นๆ ให้เราเรียน เช่น วิธีการให้นมที่ถูกต้อง สอนอาบน้ำ นอกจากนี้ยังมีมีคุณหมอมาสัมมนาให้ว่า วิธีการเลี้ยงเด็กช่วงแรก ๆ พัฒนาการจะต้องเป็นยังไง

มีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไหร่

คุณแซนดี้ : ก็ไม่ถูกค่ะ (หัวเราะ)

คุณเหมา : ก็โหดอยู่เหมือนกันครับ ตอนแรกพอเห็นเรทราคามาก็แอบตกใจนิดนึง เพราะอย่างที่แซนดี้บอกก็ไม่ได้ถูก แต่ผมรู้สึกว่าด้วยเรทราคาที่เราจ่ายไปกับการบริการที่เขาดูแลเรากับสิ่งที่เราได้รับ เอาจริง ๆ ผมว่ามันคุ้มมากเลยนะครับ เพราะว่าเขาอยากให้คนเป็นแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ในความหมายก็คือเราได้พักผ่อนอย่างเต็มที่จริง ๆ

จุดเริ่มต้นของ Little Monster ไต้หวัน

คุณเหมา : คือจริง ๆ แล้ว เพจ Little Monster ไม่ใช่เพจแบบวิชาการมาก ๆ เน้น Feeling มากกว่าว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องเจออะไรบ้าง คุณพ่อรู้สึกยังไง คุณแม่รู้สึกยังไง พอเราได้อ่านแล้ว เอ้ย รู้สึกว่ามันตรงกับเราจริง ๆ อีกอย่างระหว่างไทยกับไต้หวัน เรื่องของความรู้สึกมันค่อนข้างใกล้เคียงกันก็เลยลองติดต่อพี่ตุ๊กไปว่า โอเค มีโอกาสไหมที่จะเอาคอนเทนต์ของพี่ตุ๊ก มาทำเป็นคอนเทนต์ของไต้หวัน

ทำไมถึงสนใจทำ Little Monster version ไต้หวัน

คุณเหมา : คือจริง ๆ สังคมของไต้หวันกับของไทยไม่ได้แตกต่างกันมาก เราเห็นว่าเรื่องราวในเพจ Little Monster ก็สื่อถึงคุณแม่ของไต้หวันเหมือนกัน ผมมองว่ามันเป็นอะไรที่น่ารักดีนะ ที่เราเอาเรื่องน่ารัก ๆ ใน Little Monster เมืองไทย มาแปล แล้วก็เอาไปทำเป็นคอนเทนต์ของไต้หวัน ด้วยคาร์แรกเตอร์ของพ่อ ของแม่กับลูกเนี่ย มันทำให้สื่อออกมาได้ค่อนข้างชัดเจน

แปลยากไหม ?

คุณเหมา : ตอนแรก ๆ จะเหนื่อย แต่ว่าหลัง ๆ ก็จะดีขึ้น วิธีการแปลคือ สองคนต้องนั่งอยู่ด้วยกันครับเอา iPad มา คักลอกคอนเทนต์ที่เป็น Artwork ของ Little Monster มา แล้วก็เล่าให้แซนดี้ฟังว่า คำพูดของคุณพ่อเขาพูดอย่างนี้นะ คำพูดลูกเขาพูดอย่างนี้ คือเราต้องมานั่งอธิบายถึงภาพรวมก่อนว่า คอนเทนต์นี้เขาต้องการสื่อ Feeling ไปประมาณทางนี้นะ แล้วก็แปลออกมาเพื่อให้มันได้ Feeling คือแซนดี้ภาษาไทยก็ไม่ค่อยดีผมภาษาจีนก็ไม่ได้ดี แต่ผมชอบนะครับ คือมันได้เวลาครอบครัว ได้เวลามานั่งอยู่ด้วยกัน ค่อย ๆ พิมพ์ทีละตัว จนได้มาเป็นหนึ่ง Artwork แล้วก็เอาไปแปล ซึ่งเราก็จะมานั่งทายกันว่า คอนเทนต์ตัวนี้มันจะโดนไหม มันจะฮิตไหม ซีรีส์อันไหนที่จะถูกใจคุณแม่ไต้หวันมากกว่ากัน อะไรแบบนี้ครับ