ปัญหาความขัดแย้งกันระหว่างพี่น้อง จริงๆ แล้วสาเหตุหลักอาจเกิดจากพ่อแม่เองก็ได้ ซึ่งปัญหาพี่น้องไม่รักกัน ทะเลาะกันอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของชีวิตคู่ของพ่อแม่ได้เลยนะคะ เนื่องจากลูกมักดึงพ่อแม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการโต้เถียงด้วย และถ้าพ่อแม่คนใดเข้าข้างลูกคนไหน ก็อาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งเพียงเล็กน้อยของลูกบานปลายกลายเป็นปัญหาของพ่อแม่เองได้ ไปดูกันว่ามีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พี่น้องไม่รักกันค่ะ
1. พูดย้ำว่าพี่ต้องเสียสละให้น้อง
สมัยก่อนเราคงได้ยินคำสอนของผู้ใหญ่ว่าเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง แต่บางทีการทำแบบนี้อาจทำให้คนเป็นพี่รู้สึกไม่ยุติธรรม ควรตั้งขอบเขตของการเสียสละ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องให้หรือสปอยล์ให้กับคนเป็นน้องทุกอย่าง
แนวทางแก้ไข
พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักแบ่งปันสิ่งของร่วมกัน กินด้วยกัน เล่นด้วยกัน ผลัดกันเล่น ควรให้สิทธิ์เจ้าของได้ตัดสินใจเองว่าจะแบ่งหรือไม่ หากลูกมีการแบ่งของเล่นกัน พ่อแม่ควรชมลูกทันทีที่เห็น และต้องชมทุกครั้งที่ลุกเล่นด้วยกันอย่างสงบ ไม่ทะเลาะกัน
2. พ่อแม่ไม่เข้าใจความแตกต่างของวัยลูก
เด็กแต่ละวัยมีความต้องการ และเรื่องใหญ่ในใจ ไม่เหมือนกัน เด็กสองสามขวบจะหวงของมาก นี่คือปกติ ถ้าเขามีน้องวัยคลาน มาหยิบของเขาไป แน่นอนว่าเกิดจากความไม่ตั้งใจ แต่เด็กสองสามขวบคนพี่ จะสู้สุดฤทธิ์เพื่อเอาของเขากลับคืนมา สำหรับลูกวัยรุ่น ความอยากเป็นส่วนตัว ไม่อยากให้ใครมายุ่ง เป็นเรื่องใหญ่มากๆ ถ้าน้องมายุ่งวุ่นวาย ก็อาจทำให้พี่วัยรุ่นโกรธจัดจนน่ากลัวเกิดการทะเลาะกันได้
แนวทางแก้ไข พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจคนพี่ว่า เขาอยู่ในวัยที่ข้าวของของเขา คือเรื่องใหญ่มากในใจ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็อย่าไปโมโหคนพี่เลย แค่หยิบของคืนเขาไป หาอย่างอื่นให้น้องแทน และเคารพความเป็นส่วนตัว รวมถึงสอนน้องๆ ให้เคารพความต้องการเป็นส่วนตัวของคนพี่ด้วย
3. พ่อแม่เปรียบเทียบพี่กับน้อง
การเปรียบเทียบว่าลูกคนนี้เรียนเก่ง ขยันกว่า หรือขาว สวย หล่อ น่ารักกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองจะด้อยกว่า ทำให้เด็กเกิดความอิจฉาและอยากที่จะแข่งขันเพื่อเรียกร้องความสนใจ ยิ่งถ้าลูกได้ยินเรื่องเดิมบ่อยๆ เข้า ตัวเด็กจะยิ่งรู้สึกแย่ มีปมในใจและเกิดการต่อต้านไม่เชื่อฟังพ่อแม่ในที่สุด
แนวทางแก้ไข ไม่เปรียบเทียบลูกแต่ให้ใช้การแนะนำถึงวิธีการที่ดีกว่าในการพัฒนาตนเองให้ดีกว่าเดิม โดยการทำเป็นตัวอย่าง
4. พ่อแม่ลำเอียง
ปัญหาคลาสสิคของพ่อแม่กับลูกๆ ที่มักจะบอกว่ารักลูกเท่ากัน แต่ลึกๆ แล้วอาจไม่เท่ากันก็ได้ เพราะบางคนเห็นว่าลูกคนนี้เป็นน้องอายุน้อยกว่าต้องโอ๋เวลาที่ทะเลาะกับพี่ ถึงแม้คนเป็นน้องจะผิดก็ตาม หรือการแสดงความรักต่อลูกคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งการที่พ่อแม่ทำแบบนี้จะทำให้คนเป็นพี่คิดว่าลำเอียง ไม่มีความยุติธรรม
แนวทางแก้ไข พ่อแม่ควรทำโทษลูกโดยใช้มาตรฐานเดียวกันเวลาทำผิด แต่เมื่อลูกเป็นเด็กดีควรได้รับคำชมเชยเช่นเดียวกัน
5. ตำหนิลูกต่อหน้าน้องหรือพี่
วิธีที่พ่อแม่อบรมลูกไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเวลาทำโทษ ดุตักเตือนหรือแม้แต่การชมเชยลูก ถ้าพ่อแม่ดุตำหนิลูกคนหนึ่งต่อหน้าคนอื่นๆ คนถูกดุก็จะเสียเครดิต คนอื่นก็จะไม่เกรงใจ ถ้าชมลูกคนหนึ่ง คนใด บ่อยๆ ต่อหน้าคนอื่นๆ คนที่ถูกชมก็จะเกิดอีโก้สูง คนอื่นก็จะอิจฉาและทำให้ไม่รักกัน
แนวทางแก้ไข เมื่อพี่น้องทะเลาะกัน เราอาจเรียกลูกเข้ามาหาเราทีละคน แล้วให้เขาระบายความโกรธ ความไม่พอใจได้อย่างเต็มที่ โดยเรารับฟังลูกอย่างสงบ แล้วค่อยอบรม สอนลูกถึงสิ่งที่ควรทำไม่ควรทำ
แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หาเกม กิจกรรม หรือกีฬาที่จะได้ทำร่วมกัน แต่ต้องไม่ออกไปในเชิงแข่งขันแต่เน้นที่ส่งเสริมความร่วมมือร่วมใจกัน ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยกัน จะทำให้เกิดความรัก ความอบอุ่นและมีความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่แน่นแฟ้น และไม่ลืมสอนให้ลูกรู้จักให้อภัยซึ่งกันและกันเวลาทะเลาะกันด้วยค่ะ