ปัจจุบันนี้หนังสือแทบทุกเล่มของเด็กๆ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือสองภาษา (Billingual Book) เกือบหมดแล้ว คุณพ่อคุณแม่มักจะเห็นกันมากในหนังสือนิทานต่างๆ ที่มักจะมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในเล่มเดียว
ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คน จะสามารถนำหนังสือสองภาษานี้ ไปใช้ในการฝึกทักษะทางด้านภาษาของเจ้าตัวน้อยได้ด้วย แล้วพ่อๆ แม่ๆ อย่างเราจะใช้เจ้าหนังสือสองภาษานี้ยังไงให้ได้ผลดี วันนี้เรามีเคล็ดลับมาฝากกันค่ะ
หากพ่อแม่ยังมีอาการงงๆ กับการใช้หนังสือสองภาษา ที่พะว้าพะวงกับการแปลคำศัพท์คำต่อคำ หรือสอนโครงสร้างประโยค บรรยากาศการอ่านหนังสือของเด็กๆ คงจะน่าเบื่อน่าดู เรามาดูเคล็ดลับการอ่านหนังสือสองภาษาที่ถูกต้องกันดีกว่า ไปดูกันเลย
สลับอ่านทีละภาษา
โดยคุณพ่อคุณแม่อ่านภาษาใดภาษาหนึ่งไปจนจบเล่มเสียก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนมาอ่านอีกภาษา เพราะการอ่านเช่นนี้เด็กๆ จะคุ้นชินและรู้เนื้อหาของหนังสือมาแล้วจากการอ่านภาษาแรก แล้วพอปะติดปะต่อภาษาที่ไม่ถนัดนั้นได้เอง และเมื่อเด็กๆ เริ่มคุ้นชินและจดจำกับภาษาที่ใช้ไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ค่อยๆ ให้เขาหัดอ่านเองในทั้งสองภาษาได้เลยค่ะ
สลับคนอ่าน
เมื่อถึงเวลาอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่อาจจะสลับกันอ่าน เช่น คุณแม่อ่านภาษาไทย คุณพ่ออ่านภาษาอังกฤษ เป็นต้น หรืออาจจะเลือกหยิบหนังสือที่ลูกๆ คุ้นเคยหรือเคยได้ยินมาจากที่โรงเรียนเวลาคุณครูเล่าให้ฟัง มาเลือกอ่านให้ลูกฟังในอีกภาษาหนึ่งก็ได้ค่ะ
ชวนพูดคุยโดยใช้ทั้งสองภาษา
เช่น เมื่อคุณแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังเป็นภาษาไทย เราก็ชวนลูกพูดคุยเป็นภาษาไทย เมื่อคุณแม่อ่านเป็นภาษาอังกฤษ เราก็ใช้ภาษาอังกฤษในการพูดคุยกับลูกระหว่างการอ่านหนังสือ โดยเริ่มจากประโยคง่ายๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในหนังสือที่เด็กๆ สนใจก็ได้ค่ะ
ชวนลองเขียนหนังสือสองภาษาของตัวเอง
คุณพ่อคุณแม่ก็ทราบกันดีนะคะว่า การอ่านหนังสือเป็นแรงบันดาลใจที่ดีของนักเขียน ซึ่งถ้าเป็นเด็กโตที่สามารถเขียนหนังสือและแต่งเรื่องราวเองได้แล้ว การตั้งคำถาม พูดคุยให้เขาแต่งหนังสือสองภาษาของตัวเอง จะช่วยให้เขามีความม่นใจในการใช้ภาษาและยังช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจในตนเองได้อีกด้วย
ส่วนในเด็กเล็กๆ ที่ยังเขียนหนังสือไม่คล่องเท่าไหร่นัก คุณพ่อคุณแม่อาจจะเริ่มต้นจากการให้เขาได้วาดภาพประกอบ แล้วให้คุณพ่อคุณแม่อย่างเราเป็นคนแต่งเรื่องราวไปก่อนก็ได้ค่ะ เขาก็จะได้ฝึกทักษะทั้งจินตนาการและภาษาไปในตัวด้วย แถมหนังสือที่ทำมาก็ยังสร้างความภาคภูมิใจและอาจจะเป็นหนังสือทำมือที่ช่วยกันแต่งกับพ่อแม่เล่มโปรดของเด็กๆ ไปเลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หนังสือ Amarin Baby & Kids