ในช่วงเวลานี้ละครที่ฮอตฮิตที่สุดคงหนีไม่พ้น “บุพเพสันนิวาส” ที่ทำให้ผู้คนเรียกออเจ้ากันทั้งพระนคร จากละครในช่วงแรกจะเห็นว่าการะเกดตัวจริงมีนิสัยที่ไม่น่ารักเอามากๆ ค่ะ จนคุณพี่หมื่นต้องแร๊พต่อว่ายาวเป็หางว่าว ซึ่งเราได้ลองถอดคำแร๊พของพี่หมื่นมาวิเคราะห์ดูว่านิสัยไม่ดีของการะเกดมีอะไรบ้าง แล้วมีหนทางไหนไหมที่ทำให้เราเลี้ยงลูกแล้วไม่ให้มีนิสัยเหมือนการะเกด ไปดูกันเลย
กล่าววาจาน่าเกลียดน่าชัง
จากในละครจะเห็นว่าการะเกดตัวจริง มีวาจาน่าเกลียดน่าชังเหมือนที่คุณพี่หมื่นว่าไม่มีผิดเลยค่ะ คือ ชอบพูดคำหยาบ ตะโกนเสียงดัง ซึ่งเราสามารถฝึกลูกให้พูดเพราะ ไม่ให้เป็นการะเกดได้ด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกตั้งแต่เล็กค่ะ
เพราะเด็กในวัยประมาณ 4 ขวบ กำลังอยู่ในช่วงจดจำ ไม่ว่าใครพูดอะไร ลูกก็จะจดจำไว้หมด หากเขาได้ยินคนพูดคำหยาบ ก็จะพูดตาม ดังนั้นเราจึงต้องดูว่าลูกได้ยินคำหยาบจากที่ไหนมาบ้างเพื่อที่จะได้แก้ไขได้ตรงจุด และถ้าได้ยินลูกพูดคำหยาบก็ให้อธิบายว่าเป็นคำที่ไม่ดีและสอนให้ลูกพูดคำอื่นแทน
ไม่รู้จักกาลเทศะ
การะเกดเป็นคนที่ไม่มีกาลเทศะ คือไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร ไม่มีสัมมาคารวะ คือถึงแม้ว่าผู้ที่พูดด้วยจะมีอายุมากกว่า แต่ถ้ามียศที่ต่ำกว่า การะเกดก็จะไม่ไว้หน้า พูดจารุนแรงใส่ ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกเป็นแบบการะเกดก็จะต้องอยู่ที่การอบรมสั่งสอน เพราะเรื่องของกาลเทศะไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติ จะต้องได้รับการฟูมฟักจากพ่อแม่
คือสอนให้รู้จักวิธีการแสดงออกที่เป็นการให้เกียรติผู้ใหญ่ เช่น สวัสดีผู้หลักผู้ใหญ่ มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องสอนลูกตั้งแต่เด็ก เพราะเมื่อเวลาผ่านไป พ่อแม่จะสอนลูกได้ยากขึ้น
จิตใจหยาบกระด้าง ไม่มีเมตตา
คนที่น่าสงสารที่สุดในตอนแรกของเรื่องบุพเพสันนิวาสคงหนีไม่พ้นพี่ผินและพี่แย้ม คนรับใช้คู่ใจของแม่หญิงการะเกดที่กลายเป็นคนที่ถูกทำร้ายมากที่สุดในเรื่อง ทั้งตบ ตี เตะ ถีบ อาจเพราะการะเกดคิดว่าทั้งสองคนเป็นเหมือนสมบัติที่ตนจะทำอะไรก็ได้ เลยไม่ได้มีจิตใจเมตตาในฐานะที่เป็นคนเหมือนกัน ลามไปถึงการทำร้ายข้าทาสบริวารในเรือน ส่งผลให้คนทั้งเรือนชังน้ำหน้า สิ่งที่การะเกดทำคือขาดเมตตา
ดังนั้นการสอนให้ลูกมีจิตใจดีและมีเมตตาเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัวที่ต้องเลี้ยงดูด้วยความรัก ความอบอุ่น พูดจากันด้วยถ้อยคำที่ดี ไม่ตะคอกหรือพูดใส่อารมณ์ เพราะลูกจะทำเป็นแบบอย่างได้
ขี้คร้านตัวเป็นขน
หนึ่งในคำด่าของพี่หมื่นคือ ความขี้เกียจ จากการเห็นว่าวันๆ หนึ่งการะเกดไม่ทำอะไรเลย ดีแต่นั่งชะม้อยชะม้ายชายตา แต่งหน้าขาว อยู่สวยๆ ไปวันๆ สำหรับสิ่งที่แม่หญิงทำได้ในสมัยนั้นคงจะเป็นการร้อยมาลัย พับดอกบัว ซึ่งเป็นวิถีของกุลสตรีในสมัยนั้น
สำหรับสมัยนี้สิ่งที่เห็นว่าเป็นความขี้เกียจของลูกคือ ขี้เกียจเรียน ไม่ยอมช่วยหยิบจับงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ดังนั้นหากลูกยังเล็กก็ควรให้เขาช่วยเหลืองานบ้านเล็กๆ น้อยๆ มอบหมายหน้าที่ที่เขาจะต้องทำเป็นประจำตั้งแต่เด็ก เพื่อฝึกเรื่องของความรับผิดชอบ ควรใช้การพูดกระตุ้นด้วยความใจเย็น อย่าใช้อารมณ์เพราะจะทำให้ลูกยิ่งต่อต้านพยายามทำให้ลูกเห็นถึงสิ่งสำคัญและรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ ก็จะช่วยลดความขี้เกียจของลูกได้
ขี้อิจฉา
เรื่องสุดท้ายไม่มีอยู่ในเร๊พของพี่หมื่น แต่เราเห็นได้ชัดคือ ความขี้อิจฉาซึ่งส่งผลร้ายแรงถึงชีวิตของคนคนหนึ่ง จะเห็นได้ว่าการะเกดอิจฉาแม่หญิงจันทร์วาดถึงขนาดสั่งให้คนไปล่มเรือ ดังนั้นความอิจฉาคือบ่อเกิดที่อาจทำให้ลูกมีปัญหาต่อการเข้าสังคมในอนาคต สิ่งที่การะเกดเป็นอาจเกิดจากการที่เธอเห็นว่ากำลังจะมีคนมาแย่งความรักที่เธอควรจะได้รับไป เพราะฉะนั้นการให้ความรัก ความอบอุ่น ใช้ความรักและเหตุผลเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมขี้อิจฉา รวมไปถึงใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้นก็จะช่วยให้ลูกไม่เป็นเด็กขี้อิจฉาได้
จากทั้งหมดจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้แม่หญิงการะเกดมีนิสัยที่เลวร้าย เกิดจากการที่เธอขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ถึงแม้จะมีพี่เลี้ยงคอยอยู่เคียงข้าง แต่ก็ไม่สามารถทดแทนช่องว่างในใจได้ ส่งผลให้เธอแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้าง ดังนั้นหากไม่อยากให้ลูกกลายเป็นการะเกดก็ต้องให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก คอยสั่งสอนผิดถูก เพื่อให้ลูกเติบโตมาเป็นที่รักของคนอื่นๆ ค่ะ