fbpx

9 เทคนิค เปลี่ยน YouTube ให้ปลอดภัยสำหรับลูก

Writer : Mneeose
: 8 กันยายน 2563

เมื่อลูกร้องไห้ เชื่อว่าสิ่งแรกที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ทำ คงจะหนีไม่พ้นการควานหาโทรศัพท์มือถือ หรือไอแพดมาเปิดให้ลูกดู เพื่อให้หยุดร้องไห้ และไม่งอแงเป็นแน่ ซึ่งเห็นได้ชัดเลยว่าเเอปฯยูทูป (YouTube) นั้นมีประโยชน์ และเป็นที่พึ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่มากแค่ไหน เรียกได้ว่า แค่มีเเอปฯ ติดเครื่องไว้ ก็อุ่นใจแล้ว

แต่ปัญหามันติดที่ว่าคลิปวิดีโอในยูทูปนั้นไม่ได้เหมาะกับเด็กไปซะทุกคลิปนะสิคะ เราจึงมี 9 เทคนิค เปลี่ยน YouTube ให้ปลอดภัยสำหรับลูก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเปิดคลิปที่ไม่เหมาะสมมาฝากกันค่ะ

1. เปิดโหมดความปลอดภัยใน YouTube

วิธีแรกที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องโหลดแอปฯ อื่นๆให้เสียเวลา เพราะเราจะมาเรียนรู้วิธีการเปิดโหมดความปลอดภัยบนยูทูปกันนั่นเองค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะยังไม่รู้ว่าแอปยูทูปนั้นก็สามารถตรวจสอบคลิปต่างๆ ที่มีเนื้อหาที่รุนแรง และไม่เหมาะสมได้ ซึ่งหากเรารู้จักการเปิดโหมดนี้แล้ว ก็ถือว่าได้เป็นการคัดกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมให้ลูกๆ แล้วล่ะค่ะ

เปิดโหมดความปลอดภัยในโทรศัพท์มือถือ

  • เปิดเเอปฯ ยูทูปที่ลงทะเบียนไว้
  • กดไปที่รูปหน้าเราบัญชีของเรา
  • จากนั้นกดไปที่ >> การตั้งค่า (Setting)
  • แล้วกดเลื่อนปุ่มเปิดตรง >> โหมดที่จำกัด (Restricted Mode) >> เมื่อเปิดแล้ว ปุ่มจะเป็นสีฟ้า
  • เท่านี้เราก็เปิดโหมดความปลอดภัยบน YouTube ได้เเล้วค่ะ

เปิดโหมดความปลอดภัยในคอมพิวเตอร์

  • เปิดเว็บไซต์ยูทูบที่ลงทะเบียนไว้ >> www.youtube.com
  • กดไปที่รูปหน้าเราบัญชีของเรา
  • จากนั้นหาคำว่า “โหมดที่จำกัด (Restricted Mode)” แล้วกดเปิดได้เลยค่ะ

ซึ่งยูทูปเขาได้บอกว่าโหมดนี้จะช่วยซ่อนวิดีโอที่อาจเหมาะสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น และโหมดนี้ป้องกันไม่ได้ 100% ปิดได้เฉพาะคลิปที่ใส่ข้อมูลว่าเนื้อหารุนแรงหรือไม่เหมาะสมเท่านั้นค่ะ ส่วนการตั้งค่านี้จะใช้เฉพาะกับแอปฯ นี้บนอุปกรณ์นี้เท่านั้น นั่นเเสดงว่าถ้าหากลูกไปเล่นบนโทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นก็จะยังไม่มีการเปิดโหมดนี้เช่นกัน

 

2. ให้ลูกดูเฉพาะจากรายการ (Playlist) ที่เราตั้งไว้เท่านั้น

การให้ลูกดูตามรายการที่เราเลือกไว้ให้ ถือเป็นวิธีป้องกันที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กๆ เผลอไปกดดูคลิปที่ไม่เหมาะสม หากคลิปนั้นเด้งขึ้นมาบนหน้าฟีด

คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกรายการที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่น รายการเพลง หรือการ์ตูนที่เหมาะกับเด็กในวัยนั้นๆ เพื่อให้เขาไม่เบื่อ แต่อย่าเลือกไว้เยอะมากนัก และควรจำกัดเวลาในการการดูด้วย เพราะอาจจะทำให้เด็กไม่ยอมลุกไปไหน และไม่ยอมไปทำอย่างอื่น เพราะการ์ตูนที่ดูยังไม่จบนั่นเอง

 

3. ตรวจคลิปทุกครั้ง ก่อนให้ลูกดู

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะให้เจ้าตัวเล็กดูคลิปวิดีโอต่างๆ ควรไล่ดูเนื้อหาคลิปทั้งหมดให้ครบก่อน เพราะบางครั้งเนื้อหาที่อยู่ข้างในอาจจะสอดแทรกสิ่งที่เด็กไม่สมควรดูได้เช่นกัน หากเด็กเกิดการลอกเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีขึ้นมาจะยิ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้

เพราะฉะนั้นเราจึงควรดูคลิปตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้แน่ใจว่าเนื้อหาที่ลูกได้ดูนั้นเหมาะสมสำหรับเด็กจริงๆ และแม้ว่าช่องรายการของแอปฯ ยูทูป คิดส์ (YouTube Kids) หรือวิดีโอที่ลงทะเบียนไว้ว่าเหมาะกับเด็ก รวมทั้งแยกช่วงอายุที่เหมาะสมไว้แล้วก็ตาม แต่พ่อแม่เองก็ควรพิจารณา และคัดเลือกคลิปที่จะให้ลูกดูเองอีกทีด้วยเช่นกันค่ะ

 

4. ไม่ปล่อยให้ลูกดู YouTube ตามลำพัง

การปล่อยให้เด็กดูยูทูปตามลำพัง เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ลูกเผลอไปกดดูในสิ่งที่ไม่เหมาะสมสำหรับวัยเด็กอย่างเขาได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องนั่งข้างๆ คอยดูสิ่งที่ลูกดูอยู่ตลอดเวลา คอยถามไถ่ เพื่อที่จะได้พูดคุยภาษาเดียวกันรู้เรื่อง

รวมทั้งคอยเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญของลูกไว้ เช่น ลูกชอบดูการ์ตูนเรื่องอะไรมากที่สุด ทำไมถึงชอบ การ์ตูนเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องราวอย่างไร เชื่อสิว่า หากคุณพ่อคุณแม่รู้ในสิ่งที่เขาสนใจอยู่เช่นกัน จะยิ่งเพิ่มความเชื่อใจของลูกที่มีต่อตัวของพ่อแม่ และกระชับความสัมพันธ์ในบ้านได้มากขึ้นแน่นอนค่ะ

 

5. เปิด YouTube Kids ให้ลูกดู

แอปพลิเคชั่นที่คัดมาเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ นั่นก็คือ “ยูทูป คิดส์ (YouTube Kids)” นั่นเองค่ะ ซึ่งในแอปฯ นี้จะรวบรวมคลิปวิดีโอที่เหมาะสำหรับเด็กมากมายมาให้เราได้เลือกดูจากทั่วโลก รับรองว่าปลอดภัยสำหรับเด็กแน่นอน เพราะมีทีมงานที่คอยคัดสรรสื่อที่ดีไว้ให้เเล้วนั่นเอง อย่ารอช้า!! รีบโหลดลงเครื่องโทรศัพท์มือถือได้เลยจ้า มีทั้งใน IOS และ Android ด้วย ที่สำคัญ คือ โหลดฟรี!! ด้วยค่ะคุณพ่อคุณแม่

 

6. สร้างบัญชีเฉพาะ เพื่อง่ายต่อการเช็กประวัติ

ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากรู้ว่าเจ้าตัวเล็กนั้นดูอะไรไปบ้าง แต่ไม่มีเวลาที่จะต้องมานั่งดูกับคลิปกับลูก วิธีง่ายๆ เลยค่ะ นั่นก็คือ การสร้างบัญชีใหม่ของเรา เพื่อที่จะได้กลับมาเช็กประวัติว่าลูกดูอะไรไปบ้างนั่นเองค่ะ

 

7. สร้างรหัสผ่านก่อนเข้า YouTube Kids ทุกครั้ง

ก่อนเข้าแอปฯ ยูทูป คิดส์ คุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างรหัสผ่านใหม่ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเข้ามาเปลี่ยนการตั้งค่าต่างๆ ในแอปฯเองได้ ซึ่งก็รวมถึงประวัติการดูด้วยเช่นกันค่ะ (อย่าให้ลูกรู้เชียวนะ)

 

8. ตั้งค่าจำกัดเวลาดูในแต่ละครั้ง 

แอปฯ ยูทูป คิดส์ สามารถให้เราตั้งค่าจำกัดเวลาดูคลิปวิดีโอของลูกได้ผ่านการตั้งค่าด้วยโปรแกรมควบคุมสำหรับพ่อแม่

  • เพียงกดไปที่รูปเฟืองมุมขวาด้านล่างค่ะ
  • จากนั้นจะมีเครื่องมือ 4 ตัวขึ้นทางด้านขวามือ
  • เลือกคำว่า “ตัวจับเวลา” ซึ่งการตั้งเวลาในการดูแต่ละวัน จะสูงสุดที่ 60 นาทีเลยค่ะ

เท่านี้เราก็จะสามารถควบคุมให้ลูกดูคลิปวิดีโอในเวลาที่เหมาะสมได้เเล้ว แต่อย่าลืมว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องพูดคุยกับลูกให้เข้าใจถึงกฎ และข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวกับระยะเวลาในการดูด้วยนะคะ เด็กๆ จะได้เข้าใจเหตุผล และยอมเชื่อฟังเรานั่นเอง

 

9. ดาวน์โหลดวิดีโอให้ดูแบบออฟไลน์ (Offline)

มาถึงเทคนิคสุดท้ายกันแล้วค่ะ นั่นก็คือ การดาวน์โหลดวิดีโอให้ลูกดูแบบออฟไลน์ (Offline) คือการดูคลิปโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปิดอินเทอร์เน็ตให้เปลือง

ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยไม่ให้ลูกดูคลิปที่ไม่เหมาะสม เพราะคลิปวิดีโอเหล่านั้นได้ผ่านการตรวจจากคุณพ่อคุณแม่แล้วนั่นเอง ไปดูวิธีโหลดคลิปเป็นแบบออฟไลน์ในเเอปฯ ยูทูป คิดส์กันเลย

ขั้นตอนในการโหลดคลิปเป็นแบบออฟไลน์ในเเอปฯ ยูทูป คิดส์

  • เลือกคลิปที่ต้องการจะโหลดแบบออฟไลน์
  • กดที่ปุ่ม 3 ปุ่ม ด้านมุมขวาล่างของคลิปนั้น
  • จากนั้นเลือก “บันทึกออฟไลน์”

เพียงเท่านี้คลิปวิดีโอนั้นก็จะถูกดาวน์โหลดเข้าไปอยู่ในเครื่องแล้วค่ะ เด็กๆ สามารถเลือกดูจากในนั้นได้เลย ไม่ต้องเปิดเข้าไปดูในแอปฯ ให้เสียเวลา ซึ่งอาจจะเสี่ยงเจอคลิปที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กก็ได้นะคะ

จบกันไปแล้วค่ะกับ “9 เทคนิค เปลี่ยน YouTube ให้ปลอดภัยสำหรับลูก” ทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยากกันใช่มั้ยล่ะคะ และนี่คือเคล็ดลับทั้งหมดที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ก่อนที่จะให้อิสระแก่ลูกได้ดูคลิปวิดีโอต่างๆ ทั้งในเเอปฯ ยูทูป หรือเเอปฯ ยูทูป คิดส์ นั่นเอง ซึ่งพวกเราทีมงานหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อคุณพ่อคุณแม่อย่างแน่นอน ลองไปทำตามกันดูนะคะ

ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งกฎกติกาในการเล่นให้ชัดเจน บอกลูกให้เข้าใจ  และรับรู้ถึงเหตุผลต่างๆ ที่พ่อแม่ต้องทำแบบนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกนั่นเอง ถ้าพวกเขาได้รู้ถึงความรัก และความห่วงใยของคุณพ่อคุณแม่แล้วล่ะก็ รับรองลูกจะไม่งอแงขอเล่นต่ออีกแน่นอนค่ะ

 

สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

Writer Profile : Mneeose

💙💙💙

  • Blog :
  • Social Media :

  • Official Sponsors :
  • Samitivej Hospital

Generic placeholder image

บทความที่เกี่ยวข้อง



Update
anal porno zdarma culi nudi al mare free sex videos antalya escort

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save