ยุงลายนอกจะจากเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคไข้เลือดออกแล้ว ยังทำให้เกิดโรคชิคุนกุนยาหรือโรคไข้ปวดข้อยุงลายอีกด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้
โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาที่มียุงลายสวนและยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ จะมีอาการคล้ายไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีการช็อก
ซึ่งในตอนนี้มีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาที่พื่นที่บ้านเกาะกลางในจังหวัดกระบี่ ชาวบ้านประมาณ 2,000 คน คิดเป็น 80% ป่วยด้วยโรคชิคุนกุนยา เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการช็อก 1 รายแต่ไม่ยืนยันว่าเสียชีวิตจากโรคนี้โดยตรงหรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน
ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้เผยแพร่พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 6 -12 ม.ค. 2561 โดยระบุว่า ขอให้ประชาชนระมัดระวังโรคจากยุงลายเป็นพาหะ เนื่องจากช่วงนี้ฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หากมีอาการไข้ ผื่น ปวดข้อ ควรไปพบแพทย์ และหากได้เดินทางมาจากพื้นที่ภาคใต้ในช่วง 14 วันก่อนป่วยก็ให้แจ้งแพทย์ด้วย
สำหรับวิธีการป้องกันให้ใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ
1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์
2. เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้ไปขายเป็นรายได้เสริม และ
3. เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3. ไข้ปวดข้อยุงลาย
อ้างอิงจาก