คุณพ่อคุณแม่เคยเจอไหมคะ พอลูกไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็มักจะร้องไห้ แล้วลงไปนอนดิ้นกับพื้น กระทืบเท้า แสดงอาการโมโหอย่างชัดเจน อาการแบบนี้เรียกว่า อาการร้องอาละวาด (Temper Tantrum) ค่ะ ซึ่งเป็นอาการตามพัฒนาการในการแสดงอารมณ์ของเด็ก แต่ในบางครั้งก็เป็นปัญหาเช่นกัน แต่ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องมีวิธีรับมือที่เหมาะสม เราไปเข้าใจอาการนี้ของลูกให้มากขึ้นกันดีกว่าค่ะ
อาการร้องอาละวาดเป็นยังไง
ลูกจะเริ่มจากความโกรธ ไม่พอใจ จากนั้นจึงตามมาด้วยการร้องไห้รุนแรง แล้วลงไปนอนดิ้นกับพื้น ฟาดแขนขาไปมา ในบางครั้งอาจมีการทำร้ายตนเองหรือคนอื่น สำหรับเด็กบางคนก็จะร้องหนักมากจนเกิดการร้องกลั้น (breath holding spell) แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการร้องอาละวาดใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที แต่ก็จะมีการร้องอาละวาดที่ก่อให้เกิดปัญหา ซึ่งมีอาการที่พ่อแม่ต้องรู้ คือ
- ร้อง 3 ครั้ง/วันขึ้นไป นานเกิน 15 นาที
- มีปัญหาพฤติกรรมอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาการนอน ปัญหาการเรียน ปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน
- ทำลายข้าวของ ทำร้ายตนเอง ทำร้ายผู้อื่น
- หงุดหงิด หรือไม่พอใจตลอดเวลา
ช่วงอายุของเด็ก
อาการร้องอาละวาดนี้ เริ่มพบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 12 ถึง 18 เดือน แต่จะพบได้บ่อยในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี และจะค่อยๆ ลดลงจนหายไปเมื่ออายุ 4 ปี
ทำไมลูกถึงอาละวาด
- พัฒนาการตามวัย : การร้องอาละวาดมักเกิดในช่วงอายุ 2-3 ปี ถือเป็นพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้เรื่องการควบคุมอารมณ์ของเด็ก ลูกยังแสดงอารมณ์ของตัวเองได้ไม่ดีนัก จึงใช้การร้องอาละวาดมาเป้นเครื่องมือ และในเด็กที่มีภาวะบกพร่องทางพัฒนาการก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก
- อาการไม่สบาย : เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจก็อาจมาการร้องอาละวาดได้ เนื่องจากการใช้ยารักษาโรคเหล่านี้มักทำให้เด็กรู้สึกง่วง จึงร้องงอแงออกมาบ่อยๆ
- พื้นอารมณ์เลี้ยงยาก : เด็กแต่ละคนมีพื้นอารมณ์ที่ต่างกัน ดังนั้น เด็กที่มีพื้นอารมณ์แบบเลี้ยงยาก (Difficult temperament) คือ กินยาก นอนยาก ขับถ่ายไม่เป้นเวลา ปรับตัวอยาก ก็ยิ่งทำให้เกิดอาการนี้ได้ง่ายขึ้นอีก
- ตามใจหรือเข้มงวดมากไป : การเลี้ยงดูมีผลต่ออารมณ์ของเด็กเป็นอย่างมาก หากตามใจมากหรือเข้มงวดมากเกินไป รวมไปถึงมีการลงโทษที่เป็นความรุนแรง พ่อแม่แสดงอารมณ์ลบออกมาบ่อยๆ ก็จะทำให้เด็กซึมซับและหงุดหงิดไม่พอใจได้ง่าย
พ่อแม่ทำยังไงดี
ป้องกันก่อนเกิดอาการ
- มีกิจวัตรสม่ำเสมอ มีกฎระเบียบที่ทุกคนในบ้านทำเหมือนกัน
- ใช้เวลาคุณภาพ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ คือต้องใช้เวลาอยู่กับเขาจริงๆ เล่น พูดคุย อย่างน้อยวันละ 30 นาที
- ให้การเสริมแรงด้านบวก หากลูกจัดการกับอารมณ์ได้เหมาะสม
- พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี พ่อแม่ควรจัดการกับอารมณ์ของตัวเองให้ได้ก่อน อย่าใช้อารมณ์นำทาง ไม่ลงโทษด้วยการตี เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ
- เตือนล่วงหน้าหากมีการเปลี่ยนแปลง ถ้าสิ่งที่ทำเป็นกิจวัตรหรือสิ่งที่เคยตกลงร่วมกันมีการเปลี่ยนแปลงก็ควรบอกลูกล่วงหน้า เพื่อให้เขาเตรียมตัว
- สอนให้ใช้คำพูดเพื่อแสดงความรู้สึก แทนการแสดงออกทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้เขารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง
แต่ถ้าเกิดแล้วล่ะ?
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูกหากเกิดอาการ
- พ่อแม่ควรมีท่าทีสงบ เพิกเฉยต่อการกระทำนั้น เพราะถ้าลูกไม่ได้รับการตอบสนองก็จะไม่ทำอีก แต่ต้องดูเรื่องความปลอดภัย
- หากลูกทำลายข้าวของ ทำร้ายคนอื่น ทำร้ายตัวเอง ให้พาเขาออกมาจากตรงนั้น และพ่อแม่ต้อง “กอด” เขาไว้ จนกว่าเขาจะสงบลง
- ไม่ลงโทษรุนแรง พ่อแม่ต้องตอบสนองต่อการร้องอาละวาดต้องเหมาะสม และไม่ควรให้ของเมื่อลูกหยุดร้อง เพราะเขาจะจำและรู้ว่าไม้นี้ใช้ได้ผล
- การไม่ตามใจเมื่อเกิดอาการ หากลูกร้องอาละวาด พ่อแม่ก็ยังคงต้องทำในสิ่งที่ตอนแรกจะทำ เช่น ไม่ได้จะซื้อของเล่นให้ พอลูกอาละวาด ก็อย่าซื้อของเล่นเพื่อตามใจเขาเด็ดขาด
- เมื่อลูกสงบ ก็เข้าไปพูดคุยตามปกติ ถามเขาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เขาลองพูดสะท้อนอารมณ์ เพื่อที่จะเข้าใจอารมณ์ของตัวเองมากขึ้น พร้อมกับถามความเห็นของเขาว่าควรจะแก้ไขอย่างไรดี
https://meded.psu.ac.th/binla/class05/388_551/problems_in_young_children/index3.html
http://rajanukul.go.th/iqeq/index.php?mode=iqeq&group_id=0&id=170