“การโกหก” เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ยิ่งถ้าคนที่พูดโกหกเป็นลูก แน่นอนว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องรู้สึกแย่ รู้สึกกังวลใจและเครียดไม่น้อยใช่ไหมคะ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่า มีพฤติกรรมการโกหกของลูกเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความเข้าอกเข้าใจของคุณพ่อคุณแม่ให้มาก วันนี้เรามาทำความเข้าใจพฤติกรรมการโกหกของลูกให้มากขึ้น รวมไปถึงวิธีการรับมือกันดีกว่าค่ะ
พัฒนาการตามวัยมีความสำคัญ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกมีพฤติกรรมโกหก หรือว่าพูดไม่จริง อย่างแรกที่ควรดูคือเรื่องช่วงวัยของลูกค่ะ เพราะเด็กแต่ละวัยก็มีพัฒนาการทางความคิดที่แตกต่างกัน
- เด็กอนุบาล : ในเด็กวัยนี้ หากพบว่าลูกพูดไม่จริงเป็นเพราะลูกแค่ยังแยกเรื่องจริงกับจินตนาการออกจากกันไม่ได้ เขาเลยพูดเรื่อยเปื่อย หรือพูดตามที่คนอื่นๆ เขาพูดกัน
- เด็กประถม : ในเด็กวัยนี้เป็นวัยที่แยกแยะระหว่างความจริงกันจินตนาการได้แล้ว และสามารถแยกแยะเรื่องถูกหรือผิดได้พอสมควร ถ้าลูกยังโกหกแสดงว่าต้องมีสาเหตุบางอย่างค่ะ
นอกจากนี้ในเด็กบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์ ก็มีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมโกหกมากกว่าเด็กทั่วไปด้วยค่ะ
สาเหตที่ทำให้ลูกต้องโกหก
ไม่มีใครบนโลกอยากโกหก นอกจากว่ามีเหตุผลใช่ไหมล่ะคะ ในเด็กก็เช่นกันค่ะ การที่ลูกโกหกส่วนใหญ่ก็เพื่อเป็นการแก้ปัญหาบางอย่าง ไม่ได้มีเจตนาร้าย โดยการโกหกของลูกนั้นอาจมีหลายสาเหตุดังนี้
- เพื่อให้คนอื่นสนใจ เด็กบางคนก็โกหกเพราะอยากได้รับความสนใจ เพราะเมื่อเขาโกหกแล้วก็จะมีคนสนใจมากขึ้น
- เพื่อได้รับการยอมรับ เด็กบางคนก็อยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน จึงโกหกในสิ่งที่ตนเองไม่มีเหมือนคนอื่นๆ
- เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือการลงโทษ เมื่อพบว่าการพูดความจริงจะได้รับการลงโทษที่รุนแรง เด็กบางคนจึงเลือกที่จะโกหก เพราะไม่อยากถูกลงโทษค่ะ
- เพื่อให้คนอื่นสบายใจหรือโกหกสีขาว (White Lies) เด็กบางคนอาจคิดว่าการพูดความจริงอาจสร้างความเจ็บปวดให้คนอื่น จึงใช้การโกหกเพื่อทำให้คนฟังรู้สึกดี
- เพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ เด็กบางคนก็อาจโกหกได้ เช่น โกหกว่าทำการบ้านเสร็จแล้วเพื่อที่จะได้ไปเล่น
ซึ่งสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรสนใจคือเหตุผลเหล่านี้ และพูดคุยกับลูกให้เยอะๆ มากกว่าการตีตราว่าเขาเป็นเด็กนิสัยไม่ดีและขี้โกหกนะคะ
วิธีการรับมือเมื่อลูกโกหก
ในเมื่อเรารู้แล้วว่าลูกอาจพูดไม่จริง หรือโกหกเรา อย่างแรกที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ ใจเย็นๆ นะคะ อย่าเพิ่งเหมารวมว่าทุกสิ่งที่อย่างที่ลูกพูดกับเราคือเรื่องโกหก เราควรพูดคุยกับลูกด้วยความใจเย็น และรับฟังเขาให้มาก ควรชี้ชวนให้ลูกคิดแบบรอบด้านถึงผลดีและผลเสียของการพูดโกหกและพูดความจริง เพื่อให้ลูกเลือกผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง จะดีกว่าการที่พ่อแม่พูดอย่างเดียวแต่ลูกไม่ได้คิดตามค่ะ ที่สำคัญคือหลีกเลี่ยงการตีตราว่าลูกเป็นเด็กขี้โกหก เพราะเขาจะเชื่อว่าตัวเองเป็นแบบนั้นจริงๆ
นอกจากนี้อาจต้องลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเองว่าเรามีพฤติกรรมการโกหกให้ลูกเห็นรึเปล่า เพราะการโกหกเล็กๆ น้อยก็ส่งผลถึงลูกได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรพูดความจริงและตรงไปตรงมาต่อกันแบบไม่ทำร้ายจิตใจกัน เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก อีกทั้งอาจต้องดูวิธีการลงโทษของเราด้วย ว่าเมื่อลูกทำผิดแล้วเราลงโทษลูกอย่างรุนแรงรึเปล่า จึงทำให้ลูกไม่กล้าที่จะพูดความจริงค่ะ
สิ่งที่ห้ามทำ
- โมโหใส่ลูกทันทีที่รู้ว่าลูกโกหก
- ว่าลูกต่อหน้าคนอื่น
- ไม่เชื่อเมื่อลูกอธิบาย
- พูดบ่น เยิ่นเย้อ และขู่ลูก
- พ่อแม่โกหกลูกอยู่ตลอด
- ตอกย้ำว่าลูกเป็นเด็กเลี้ยงแกะ
สิ่งที่ควรทำ
- ไม่ใช้อารมณ์ คุยกับลูกด้วยน้ำเสียงปกติ
- คุยกับลูกเพียงลำพัง เพราะการพูดต่อหน้าหลายๆ คนอาจเป็นเหมือนการประจานลูก
- รับฟังเหตุผลของลูก
- สอนให้ลูกเห็นอย่างเป็นรูปธรรม อธิบายถึงเหตุผลและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหากลูกโกหก
- พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดี
- เชื่อมั่นว่าลูกเป็นเด็กดี และให้โอกาสลูก
สุดท้าย หากคุณพ่อคุณแม่พยายามอธิบายแล้ว พูดคุยแล้ว แต่ลูกก็ยังมีพฤติกรรมการโกหกหลายครั้งและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมนะคะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก