คงไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว แต่ความก้าวร้าวนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าที่คิดค่ะ เพราะพฤติกรรมการเลียนแบบของลูกที่ดูจากสื่อก็ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวได้ แต่ที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดก็คือการเลี้ยงดูและการอบรมสั่งสอนของคุณพ่อคุณแม่ที่ส่งผลให้ลูกเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้เช่นกัน ในวันนี้เราจะมาพูดถึงความก้าวร้าวที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อก่อนวัยของลูกกันค่ะ
ทำไมลูกถึงก้าวร้าวจากสื่อ
เด็กก็เปรียบเสมือนฟองน้ำที่พร้อมซึมซับทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเขา ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของแบนดูรา (Bandura) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่เชื่อว่า การเรียนรู้ของเด็กเริ่มต้นจากการเลียนแบบ เพราะมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวอยู่เสมอ นั่นแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของเด็กได้รับการซึมซับมาจากสภาพแวดล้อมหรือพฤติกรรมของคนรอบตัว
ซึ่งการที่เราให้ลูกดูสื่อก่อนวัยอันควร นั่นคือก่อนอายุ 2 ขวบ ลูกก็อาจจะซึมซับพฤติกรรมบางอย่างมาจากสื่อที่เขาดู ยิ่งถ้าเราไม่ได้คัดกรองสิ่งที่ลูกดูก็ยิ่งอันตราย เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกแยะสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ยังไม่มีวิจารณญาณมากพอ อีกทั้งยังอยากรู้อยากลอง เช่น ดูสื่อที่ใช้แต่อารมณ์และมุ่งแต่จะเอาชนะเป็นหลัก แสดงความก้าวร้าวรุนแรง สื่อนี้ก็จะกลายเป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมให้เด็กจดจำและทำตาม
นอกจากนี้อาจทำให้เขารู้สึกชินชากับพฤติกรรมของตัวละครว่าความก้าวร้าวเป็นเรื่องปกติ และค่อยๆ นำความก้าวร้าวที่เห็นมาเป็นวิธีการแก้ปัญหา อีกทั้งยังมีการทำตัวให้เหมือนกับบุคคลในสื่อ ทั้งเป็นผู้กระทำและเป็นฝ่ายถูกกระทำ จนในที่สุดอาจกลายเป็นพฤติกรรมประจำตัวของลูกไปเลย
และที่สำคัญที่สุดคือ ความรวดเร็วบนโลกออนไลน์นั้นทำให้เด็กๆ เคยชินกับการทำอะไรที่รวดเร็ว และคาดหวังว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวและคนอื่นๆ จะต้องตอบสนองเขาอย่างรวดเร็วเหมือนกับเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ ซึ่งเมื่อเด็กเล่นสมาร์ตโฟนหรืออยู่บนโลกออนไลน์เป็นระยะเวลานานๆ ก็จะทำให้เขามีปัญหาทางอารมณ์ คือใจร้อน รอคอยไม่เป็น ฉุนเฉียวง่าย หุนหันพลันแล่น อาจทำให้เขามีพฤติกรรมที่ก้าวร้าว เพราะหลายสิ่งในชีวิตจริงไม่ได้รวดเร็วเหมือนในโลกออนไลน์
ตัวอย่างที่ดีเริ่มต้นจากพ่อแม่
พ่อแม่คือคนสำคัญที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวจากการเลียนแบบสื่อค่ะ
- หากลูกอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรให้ดูหน้าจอหรือสื่อออนไลน์อย่างเด็ดขาดเพราะจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก เพราะจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแนวทางเกี่ยวกับเรื่องการใช้จอของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบนั้น มีข้อมูลดังนี้
- เด็ก 0-2 ปี ไม่ควรใช้หน้าจออย่างเด็ดขาด
- เด็กอายุ 2 ปีใช้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ห้ามใช้เลยจะเป็นการดีที่สุด
- เด็กอายุ 3-4 ปี ใช้หน้าจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ยิ่งใช้น้อยยิ่งส่งผลดีต่อเด็ก
- ถ้าลูกอายุเกิน 2 ขวบแล้ว สามารถให้ดูได้บ้าง แต่อย่างที่บอกว่าต้องมีการกำหนดเวลาอย่างชัดเจน และต้องทำให้ได้ตามเวลาที่กำหนด ห้ามใจอ่อน ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะบอกให้ดูได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่จริงๆ แค่ 30 นาทีก็เพียงพอแล้ว แล้วใช้เวลาที่เหลือไปกับการเล่นสนุกนอกจอก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการมากกว่าค่ะ
- พ่อแม่ต้องเป็นเลือกสิ่งที่จะให้ลูกดูด้วยตัวเอง และต้องนั่งดูกับลูก อย่าปล่อยให้เขาดูตามลำพังเด็ดขาด
- เมื่อลูกโตขึ้นในระดับที่เขาสามารถค้นหาสิ่งที่จะดูได้ด้วยตัวเองจนไปเจอกับสื่อที่มีเนื้อหารุนแรง พ่อแม่ต้องคอยสอนหรืออธิบายการกระทำของสิ่งที่ลูกดู และต้องบอกลูกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ควรพูดจาด้วยเหตุผลมากกว่าดุลูก
- แสดงความไม่เห็นด้วยต่อฉากหรือตอนที่มีความรุนแรงต่อหน้าเด็ก เน้นให้เด็กทราบว่าความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อเราแสดงให้ลูกเห็นว่าความรุนแรงไม่ใช่เรื่องดี พ่อแม่ก็ต้องไม่แสดงความรุนแรงในชีวิตจริงด้วย เพราะถึงแม้เราจะป้องกันไม่ให้ลูกเห็นจากสื่อ แต่ถ้าเรายังแสดงถึงความรุนแรง ก้าวร้าวเสียเอง ลูกก็จะยังซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นได้อยู่ดี
- หากิจกรรมอื่นที่น่าสนใจมากกว่าการนั่งอยู่หน้าจอ เพื่อเป็นกิจกรรมที่ทำด้วยกันทั้งครอบครัว นอกจากช่วยลดพฤติกรรมติดสื่อแล้ว ยังเพิ่มความสนิทสนมภายในครอบครัว เช่น เล่นกีฬา ทำขนม ทำอาหาร ทำงานบ้าน เล่นบทบาทสมมติ เล่นเกมกระดาน หรือไปเที่ยวในที่ต่างๆ
เมื่อเห็นดังนี้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสื่อไม่ใช่ตัวร้ายที่ทำให้เด็กเป็นคนก้าวร้าวซะทีเดียว แต่ขึ้นอยู่กับช่วงวัยและคุณพ่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูมากกว่าว่าจะจัดการและเลือกใช้สื่ออย่างไรให้เหมาะสมและมีประโยชน์ต่อลูกมากที่สุด
ข้อมูลอ้างอิง
สนับสนุนโดย : กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์