ใครเป็นพ่อแม่มือใหม่คงจะเข้าใจดีนะคะเกี่ยวกับของใช้ต่างๆ ที่เราต้องเตรียมสำหรับลูก ตั้งแต่ก่อนคลอดยันวัยกำลังโตบอกเลยว่าของใช้หลายสิ่งหลายอย่างซะเหลือเกิน บางสิ่งแม่ๆ อย่างเราก็พอรู้ไม่ต้องทำความเข้าใจหรือหาข้อมูลการซื้อมากมาย แต่สิ่งของบางอย่างก็ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ และต้องแน่ใจว่าซื้อมาแล้วคุ้มค่าคุ้มราคาไหม อย่าง”เครื่องนึ่งขวดนมลูก” ที่มีทั้งแบบธรรมดาและเครื่องนึ่งแบบแห้ง และอีกหลากหลาย ซึ่งพ่อแม่มือใหม่อย่างเราต้องพิถีพิถันกันสักหน่อย วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับเครื่องนึ่งขวดนมแต่ละชนิดกันว่าแต่ละชนิดเป็นยังไง ราคาเท่าไหร่ แบบไหนซื้อไปแล้วถึงจะคุ้มค่า ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยค่ะ
ข้อดีของเครื่องนึ่งขวดนม
- ไม่ทำให้ขวดนมและจุกนมเสียหาย
- เพิ่มความปลอดภัยให้ลูกน้อย
- สะดวกสบาย ประหยัดเวลา
- เพิ่มความสะอาด สามารถฆ่าเชื้อได้
- คุ้มค่าใช้ได้นาน
- มีหลากหลายราคาให้แม่ๆ เลือก
เครื่องนึ่งขวดนมมีแบบไหนบ้าง
1. แบบไฟฟ้า
เป็นเครื่องนึ่งที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยไม่ต้องใช้สารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ แต่เป็นการอาศัยความร้อนจากไอน้ำเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 6-15 นาที ซึ่งแต่ละยี่ห้อก็มีความแตกต่างกัน เหมาะสำหรับคุณแม่ๆ ที่ต้องการความสะดวกสบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนึ่งอุปกรณ์ให้นมหลายๆ ชิ้นพร้อมกันค่ะ
2. แบบใช้เตาไมโครเวฟ
เป็นเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อที่ใช้ความร้อนจากไอน้ำเช่นเดียวกับเครื่องนึ่งแบบไฟฟ้า ใช้เวลาประมาณ 3-8 นาที ขึ้นอยู่กับวัตต์และหน่วยไฟของแต่ละเครื่องค่ะ แต่สามารถนำไปใช้กับสารเคมีหรือน้ำยาฆ่าเชื้อได้ด้วย
3. แบบใช้แสงยูวี
เป็นเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อโดยใช้แสงอัลตราไวโอเลต สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคได้โดยการเปลี่ยนโครโมโซมและป้องกันการแบ่งเซลล์ เป็นเครื่องนึ่งที่มีประสิทธิภาพและแถมราคาก็แอบแรงอยู่เช่นกันค่ะ
4. แบบอบแห้ง
เป็นเครื่องนึ่งขวดนมที่ใช้ความร้อนจากไอน้ำในการฆ่าเชื้อเพื่อความปลอดภัยและสุขอนามัยที่ดีของลูก โดยเครื่องนึ่งแบบอบแห้งนี้จะใช้เวลาเพียง 8-15 นาที และ 20-90 นาทีใช้นการอบแห้งซึ่งสะดวกสบายสำหรับคุณแม่ๆ มากๆ เลยเพราะทั้งนึ่งขวดและอบให้ไปในตัวโดยไม่เสียเวลานั่นเองค่ะ
วิธีเลือกซื้อเครื่องนึ่งที่แม่ๆ ต้องรู้
1. ความสะดวก
หากจะเลือกเครื่องนึ่งขวดนมสักอัน อย่างแรกเลยก็คงต้องเลือกเครื่องที่ทำให้ชีวิตแม่ๆ สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เช่น มีขั้นตอนการใช้ไม่ซับซ้อน ไม่เสียเวลา ทำให้ชีวิตแม่ๆ ง่ายขึ้นแบบไม่ต้องกดโน้นกดนี่เยอะแยะมากมาย
2. ขนาด
ขนาดในที่นี้คงเป็นพื้นที่ที่คุณแม่ๆ ต้องการเก็บหรือขนาดที่เหมาะสมกับความต้องการของการฆ่าเชื้อขวดนมในแต่ละครั้ง โดยอาจจะดูจากพฤติกรรมการกินของลูกของเรานี่แหละค่ะว่าเขากินนมบ่อยแค่ไหน บางคนใช้ขวดนมอย่างน้อยวันละ 8 ขวด หรือบางคน 6 ขวด ก็ต้องเลือกตามขนาดเครื่องที่แตกต่างกันตามความจำเป็นของแม่ๆ แต่ละคนค่ะ เพื่อความสะดวกสบายนะคะ
3. เวลา
เพราะการใช้เวลาในการฆ่าเชื้อของเครื่องนึ่งขวดนมแต่ละเครื่องนั้นแตกต่างกัน บางเครื่องใช้เวลาน้อย บางเครื่องใช้เวลามากในการฆ่าเชื้อจนจบการทำงาน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องคำนึงถึงไม่ใช่น้อยว่าเราเองสะดวกกับแบบไหน ให้ลองคำนึงถึงเวลาในการใช้งานตั้งแต่ต้นจนจบการทำงานดูค่ะ
4. อุปกรณ์เสริม / ฟังก์ชั่นต่างๆ
เครื่องนึ่งขวดนมแต่ละยี่ห้องก็มีอุปกรณ์เสริมและฟังก์ชั่นต่างๆ ที่แตกต่างกัน บางยี่ห้อฆ่าเชื้อและทำให้ขวดแห้งไปพร้อมๆ กันได้ ในขณะที่บางเครื่องก็มีฟังก์ชั่นการอุ่นขวดเพื่อฆ่าเชื้อได้ด้วย หรือถ้าเครื่องไหนมีเสียงเตือนเมื่อฆ่าเชื้อเสร็จยิ่งดีเลย ยิ่งหากถ้ามีอุปกรณ์เสริม เช่น คีมคีบ ถาดใส่อุปกรณ์ แปรงทำความสะอาด ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะเราจะได้ทุกอย่างอย่างครบครันโดยไม่ต้องไปซื้ออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ด้านนอกให้เสียเวลาค่ะ
5. ทำความสะอาดง่าย
เพราะเครื่องนึ่งขวดนมต้องมีการทำความสะอาดเพื่อความสะอาดในการฆ่าเชื้อขวดนมให้กับลูกน้อย เพราะฉะนั้นคุณแม่ๆ เองอาจจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เพราะบางยี่ห้อก็สามารถใช้เครื่องล้างจานทำความสะอาดได้ บางยี่ห้อก็มีถาดที่ถอดออกได้ เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาด เพราะฉะนั้นก็ต้องดูเรื่องนี้ด้วยค่ะ
เคล็ดลับในการใช้เครื่องนึ่งขวดนม
- อ่านคู่มือก่อนใช้งานอย่างละเอียด : ถึงแม้บางรุ่นคุณแม่ๆ อาจจะคิดว่ามันง่ายแสนง่าย แต่ยังไงก็ไม่ควรปล่อยผ่านการอ่านคู่มือก่อนใช้งานนะคะ เพื่อจะไม่ได้เกิดข้อผิดพลาดค่ะ
- ห้ามใช้นึ่งอย่างอื่น : เครื่องนึ่งขวดนมก็ต้องนึ่งแค่ขวดนมของลูกเท่านั้น เพราะแม่ๆ บางคนอาจจะเข้าใจผิดว่าเครื่องเนี่ยสามารถอุ่นอาหารได้ด้วย ซึ่งนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดมากเลยนะคะ ถึงแม้มันจะสามรถอุ่นได้ก็ตาม แต่ยังไงซะก็ไม่สามารถใช้งานอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากค่ะ
- เช็ดให้แห้งหลังทำความสะอาด : เขาว่ากันว่าเจ้าความชื้นเนี่ยเป็นตัวก่อให้เกิดเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นเมื่อคุณแม่ๆ ล้างแล้วก็ต้องเช็ดทำความสะอาดเครื่องให้แห้ง และอย่าลืมปิดฝาครอบแล้วเก็บไว้ที่ที่ไม่มีฝุ่น เพื่อสุขอนามัยที่ดีของลูกน้อย