การที่เด็กมีพัฒนาการไม่เต็มศักยภาพส่วนหนึ่งเกิดจากการได้รับอาหารที่ไม่เหมาะสมตามวัย และอาจเกิดจากการขาดความรู้และทักษะการจัดอาหารตามวัยสำหรับเด็กแรกเกิด – 5 ปี
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าองค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต และให้กินนมแม่ต่อเนื่องเป็นเวลา อย่างน้อย 2 ปี เมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือนให้เลี้ยงด้วยนมแม่ควบคู่กับอาหารที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับอายุเด็ก และควรได้รับอาหารมื้อหลักและอาหารมื้อว่าง รวมวันละ 3 – 4 มื้อ
รวมไปถึงพ่อแม่ต้องได้รับการส่งเสริมความรู้ด้านโภชนาการและเสริมทักษะในการจัดอาหาร เพื่อให้เด็กได้กินอาหาร ที่เหมาะสมกับวัย มีสัดส่วนและปริมาณเพียงพอต่อการเจริญเติบโต
สำหรับอาหารตามวัยที่ลูกควรได้รับ มีดังนี้
1) ทารกตั้งแต่แรกเกิด – 6 เดือน : ให้กินนมแม่ อย่างเดียว โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น
2) ทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป : ให้กินอาหารบดละเอียด วันละ 1 มื้อ ให้เป็นมื้อเช้า ควบคู่กับนมแม่ โดยไม่ใช้เครื่องปรุงรสทุกชนิด
3) ทารกอายุ 7 เดือน : ให้กินอาหารบดหยาบวันละ 2 มื้อ เป็นมื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อว่าง 1 มื้อควบคู่กับนมแม่
4) ทารกอายุ 8 เดือน : ให้กินอาหารบดหยาบขึ้น (ใช้การสับละเอียด) วันละ 2 มื้อหลัก เป็นมื้อเช้า มื้อกลางวันและมื้อว่าง 1 มื้อ ควบคู่กับนมแม่
5) เด็กทารกอายุ 9-11 เดือน : ให้กินอาหารหั่นชิ้นเล็กมื้อหลัก 3 มื้อ และมื้อว่าง 1 มื้อ ควบคู่กับนมแม่
6) เด็กอายุ 1-3 ปี : กินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ
7) เด็กอายุ 4-5 ปี : กินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/923285