คุณพ่อคุณแม่มักจะพบเจอพฤติกรรมการหวงสิ่งของของลูกเป็นเรื่องปกติ ยิ่งถ้าเป็นช่วงวัยอนุบาลมักมีพฤติกรรมนั้นได้ง่าย เด็กบางคนหวงของมากชนิดที่เรียกได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ห้ามแตะต้องของเลยนะคะ
แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลุ้มใจไปเลยค่ะ วันนี้ทาง Parentsone เลยนำข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการหวงสิ่งของของเด็กๆ มาให้คุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีปัญหากันอยู่ เพื่อปรับเปลี่ยนหนูน้อยจากเด็กเอาแต่ใจหวงของ ให้กลายเป็นเด็กดีมีน้ำใจนั้นเอง สาเหตุ และวิธีแก้ไขจะเป็นยังไงบ้าง ตามไปดูกันเลยค่ะ
ช่วงอายุที่เจอปัญหาการหวงของ
พ.ท.นพ.กมล แสงทองศรีกมล แพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์ จิตเวชเด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงอาการขี้หวงของในเด็ก กล่าวว่า อาการของเด็กที่มีภาวะทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง พบได้บ่อยในเด็กอายุ 3-5 ขวบ หรือวัยกำลังเรียนอนุบาล ซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัย ที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กๆ ทุกคน
สาเหตุสำคัญ
- ส่ิงของนั้นไม่เคยห่างลูกเลย
เด็กๆ มักจะคิดว่า ส่ิงของนั้นทำให้เด็กๆ รู้สึกอบอุ่นและอุ่นใจ มีเพื่อนข้างกายตลอดเวลา สังเกตได้ว่าเขามักจะอุ้มหิ้วไปหิ้วมา ไปไหนต้องเอาไปด้วยตลอดเวลา พอหาไม่เจอก็นอนไม่หลับ ร้องไห้ ซึ่งไม่เหมือนกับพ่อแม่ หรือเพื่อนที่โรงเรียน ซึ่งยังไงก็ต้องหายหน้า ห่างหายกันไปค่ะ
- เด็กๆ รู้สึกอิสระมากกว่า
เด็กๆ มักจะคิดว่าเขาจะทำอะไรกับเจ้าสิ่งนั้นก็ได้ตามใจชอบ เช่นอุ้มขึ้นรถจักรยาน หวีขนตุ๊กตา หรือแม้แต่จะพูดอะไรกับสิ่งของนั้นได้ตามใจชอบและแสดงอารมณ์กับสิ่งของนั้นได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เขารักและรู้สึกหวงสิ่งของนั้นขึ้นมาทันทีนั้นเองค่ะ
- มีความเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อถึงวัยที่เร่ิมจะหวงของและมีของสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นของตัวเองขึ้นมา เขาก็มักจะหวงสิ่งนั้นทันที เพราะเมื่อก่อนเขาคิดว่าของทุกอย่างเป็นของคุณแม่ พอโตขึ้นเขาจะรู้ว่าเขามีของของตัวเอง เช่น ผ้าห่ม ตุ๊กตา หมอนข้าง เหล่านี้ อะไรที่เป็นของเขาก็มักจะหวงทันที เด็กมักพูดว่า “ของหนูๆ ” นั้นไงละคะ
- การเลี้ยงดูของพ่อแม่
เช่น พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะมีลูก 2 คน และคุณพ่อคุณแม่ก็มักจะบอกให้พี่คนโตเสียสละของเล่นให้กับน้องคนเล็ก ทั้งๆ ที่เป็นของของพี่ ทำให้พี่รู้สึกว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์ จนทำให้คนที่เป็นพี่กลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย และเมื่อเวลามีเพื่อนมายืมของเล่น ก็จะเกิดอาการหวงมากกว่าปกติ เพราะตัวเองถูกน้องที่บ้านละเมิดสิทธิ์เป็นประจำ ส่วนของน้องก็จะกลายเป็นคนเอาแต่ใจและละเมิดสิทธิ์ของคนอื่นได้ง่ายนั้นเองค่ะ
วิธีปรับพฤติกรรมเมื่อลูกหวงสิ่งของ
-
ไม่ควรลงโทษให้ลูกรู้สึกอาย
เมื่อลูกงอแง หวงของไม่ยอมแบ่งปัน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรลงโทษให้เด็กๆ รู้สึกอายหรือเสียหน้า เพราะพฤติกรรมนั้นจะทำให้เด็กๆ รู้สึกถูกทอดทิ้ง และเขาจะกลายเป็นเด็กก้าวร้าวมากขึ้นนั้นเองค่ะ หากอยากจะสอนให้ลูกรู้สึกแบ่งปันคุณพ่อคุณแม่ควรต้องใจเย็นๆ แล้วสอนลูกอย่างมีเหตุผลนะคะ
-
คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม เด็กๆ มักจะจดจำพฤติกรรมและเลียนแบบจากผู้ใหญ่ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกเห็นเป็นประจำว่าคุณพ่อคุณแม่มีน้ำใจ และแบ่งปันเสมอ เด็กๆ ก็จะได้แบบอย่างที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่และจดจำการมีน้ำใจและเลียนแบบพฤติกรรมที่ดีนี้นั้นเอง
-
ชื่นชมเมื่อลูกแบ่งปันของให้กับผู้อื่น
เมื่อเด็กๆ รู้จักแบ่งปัน คุณพ่อคุณแม่ควรกล่าวชื่นชมลูก เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นเด็กดี และจะได้ทำในครั้งต่อๆ ไป แต่ในทางกลับกันคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะชมเชยผู้อื่นให้ลูกเห็นเมื่อลูกได้รับการแบ่งปันจากผู้อื่นด้วยเช่นกันค่ะ
-
สร้างสถานการณ์ให้ลูก
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเด็กๆ เริ่มเอาแต่ใจหรือเริ่มหวงของขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่อาจจะสร้างสถานการณ์สอนให้เด็กๆ มีน้ำใจแบ่งปันผู้อื่น อาจจะเริ่มจากการปล่อยให้เด็กๆ ไปเล่นกับเพื่อนๆ และในขณะนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็สร้างสถานการณ์การเล่นที่สนุกขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง อีกไม่นานเด็กๆ ก็จะมาเล่นด้วย จากนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะพูดกับลูกว่า “หนูพร้อมที่จะแบ่งของเล่นกับเพื่อนๆ แล้วใช่ไหมคะ ตอนนี้แม่พร้อมที่จะแบ่งให้หนูเล่นเหมือนกัน เรามาเล่นด้วยกันเถอะ” เป็นต้น แค่นี้เด็กๆ ก็จะรู้จักแบ่งปันไม่หวงของอีกต่อไปนั้นเองค่ะ
-
อธิบายเหตุผลเมื่อหยิบของของลูกไป เพื่อให้ลูกเข้าใจ
เด็กๆ ทุกคนมักจะเข้าใจว่าเวลาใครก็ตามที่หยิบของของเขาไป เด็กๆ มักจะเข้าใจว่าคนที่หยิบของไปนั้นคือคนที่แย่งของของเขาไป ดังนั้นเพื่อไม่ให้ลูกของเราเข้าใจผิด คุณพ่อคุณแม่เมื่อเวลาหยิบของของลูกไปทำอะไรก็ตาม ควรบอกเหตุผล เช่น แม่ขอหยิบหมอนของหนูไปทำความสะอาดแปปนึงนะคะลูก เพราะเจ้าหมอนของลูกมันไม่สะอาดมันจะทำให้หนูป่วยได้นะคะ อีกทั้งต้องสอนให้เด็กๆ รู้ว่าของทุกชิ้นในบ้านไม่ได้เป็นของเขาคนเดียว บางอย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น ทีวี เก้าอี้ โซฟา ที่นอน เป็นต้น
-
สอนให้ลูกเคารพสิทธิ์ของคนอื่น
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กๆ รู้จักเคารพสิทธิ์ของคนอื่น เช่น เวลาที่น้องจะเล่นของของพี่ ควรสอนให้เขารู้จักขออนุญาตพี่ก่อน หรือรอให้พี่คนโตเล่นเสร็จนก่อน เพื่อไม่ให้พี่คนโตรู้สึกน้อยใจ หรือรู้สึกเสียสละทุกเรื่อง ดังนั้นเมื่อลูกคนโตได้รับการยอมรับตามสถานภาพที่เหมาะสม การแบ่งปันจะตามมาเองค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก : nestlebaby, islammore, rakluke