“เด็กไฮเปอร์” หรือกลุ่มเด็กสมาธิสั้น คือ เด็กที่ไม่สามารถทนกับสภาพความอยู่เฉยๆ ได้ พูดง่ายๆ คือ มีอาการซนมากกว่าปกติ วอกแวกง่าย และมีอาการหุนหันพลันแล่น ทำให้คุณแม่ของเด็กกลุ่มนี้ต้องรับบทหนักมากกว่าคุณแม่คนอื่นๆ แล้วจะมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง มาดูกันเป็นข้อๆ เลยค่ะ
ทำจิตใจให้สงบ
ทำจิตใจให้สงบ ได้แก่ ไม่ตะโกนใส่ลูก เวลาลูกไม่เชื่อฟัง หรือ เวลาที่ลูกไม่ยอมนั่งทำการบ้านดีๆ แต่แน่นอนว่าคุณแม่ทุกคนนั้นย่อมมีโอกาสหมดความอดกลั้นเป็นบางครั้ง พ่อแม่ทุกคนเคยตะโกนใส่ลูกมาแล้วทั้งสิ้น หากเกิดขึ้น ให้คุณแม่ขอโทษลูกทันทีและแสดงให้ลูกรู้ว่า คุณแม่ยังรักลูกเหมือนเดิม โดยที่อธิบายให้ลูกเข้าใจว่า แม่ไม่ได้ไม่พอใจลูก แต่เป็นที่การกระทำของลูกต่างหากและสอนว่าควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร
จำกัดสื่อทุกชนิดในบ้าน
จำกัดสื่อทุกชนิดในบ้าน เด็กหลายคนไม่สามารถตัดเสียงรบกวนขณะที่กำลังใช้ความคิดได้เหมือนผู้ใหญ่ เช่น การเปิดทีวีขณะลูกทำการบ้านอยู่ จะทำให้ลูกไม่มีสมาธิ ควรจำกัดเวลาในการดูทีวี เกมส์คอมพิวเตอร์ โปรแกรมบันเทิงต่างๆ ไม่เกินวันละ 1 ชม. โดยสมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกาเตือนว่า การดูทีวีในเด็กเล็กสัมพันธ์กับการทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น และแนะนำว่าไม่ให้มีทีวีในห้องนอนของลูก และอย่าเปิดทีวีทิ้งไว้หากไม่ได้คนดูค่ะ
พาลูกไปตรวจการได้ยินและตรวจสายตา
พาลูกไปตรวจการได้ยินและตรวจสายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกเริ่มมีปัญหาการเรียน เพราะหากเด็กมีปัญหามองไม่ชัดหรือไม่ได้ยิน ส่วนใหญ่จะมาบอกคุณแม่ไม่เป็น หลายครั้งพบว่า เด็กที่คุณครูคิดว่าเป็นเด็ก สมาธิสั้น ที่จริงแล้วเป็นเพียงเด็กที่มีปัญหาสายตาไม่ดี
อย่าทะเลาะกัน หรือ โต้เถียงกันให้ลูกเห็น
เพราะการทะเลาะกันหรือโต้เถียงเรื่องลูกให้ลูกเห็นจะทำให้ลูกเครียด กลัวว่าจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อแม่มีเรื่องกัน หรือ หย่าร้างกัน อาจจะทำให้ลูกเครียดจนเป็นไฮเปอร์ก็เป็นได้ค่ะ
ใช้เวลาคุณภาพกับลูกทุกๆ วัน
ใช้เวลาคุณภาพกับลูกทุกๆ วัน แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เช่น อ่านหนังสือด้วยกัน เล่นเกมส์กระดานหมากฮอส ระบายสีหรือทำศิลปะหัตถการ หรือ อาจเป็นกิจกรรมนอกบ้าน เช่น บาสเกตบอล เทนนิส ไปวิ่งเล่นในสวน
รักษาระเบียบวินัย และมีกฎระเบียบที่แน่นอน
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการฝึกระเบียบวินัยให้เด็กไฮเปอร์ แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลูกฝังโดยเน้นกฎเกณฑ์ได้ทีละน้อยก่อน และค่อยขยายไปเรื่องอื่นที่มีความสำคัญรองลงมา คุณพ่อคุณแม่ควรมีความชัดเจนและสม่ำเสมอในการรักษากฎเกณฑ์โดยหลีกเลี่ยงคำ และห้ามตีพร่ำเพรื่อ
ช่วยหาทางออกให้เด็กได้ระบายพลังงานส่วนเกิน
ช่วยหาทางออกให้เด็กได้ระบายพลังงานส่วนเกิน ด้วยการให้ลูกเล่นกีฬา เพื่อใช้พลังงานที่มีไม่จำกัดของเด็กไฮเปอร์ ยกตัวอย่าง เช่น นักกระโดดน้ำเหรียญทองโอลิมปิค Michael Phelps เป็นโรคสมาธิสั้น หลังจากกินยาต่อเนื่องมา 4 ปี พบว่ายาไม่ช่วยอะไร จึงปรึกษาแพทย์ ค่อยๆหยุดยา แล้วใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยใช้พลังงานอันมีเหลือเฟือไปกับการฝึกว่ายน้ำจนประสบความสำเร็จในที่สุด
อย่าทำให้ลูกเหนื่อยล้า
เพราะเด็กที่ไฮเปอร์มักมีความอดทนต่อความเครียดต่ำ อาจระเบิดอารมณ์ หรือการแสดงออกที่ควบคุมตนเองไม่ได้โดยง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้า ดังนั้นคุณแม่จึงควรคอยสังเกตให้ดีว่าลูกน้อยนั้นเหนื่อยเกินไปหรือยัง จะทำให้ลดอาการเหล่านี้ได้ค่ะ
หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปในสถานที่ที่ต้องการความสงบ
การที่เด็กไปแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในสถานที่ที่ต้องการความสงบ เช่น วัด หรือภัตตาคารหรูๆ อาจถูกว่ากล่าวทำให้เด็กรู้สึกกระดากอายได้ ทางที่ดี ควรฝึกเด็กให้รู้จักควบคุมตนเองได้ดีที่บ้านก่อน แล้วจึงค่อยๆ พาไปในสถานที่ดังกล่าวจะสบายใจทั้งคุณแม่และลูกค่ะ
มีเวลาพักสำหรับคุณแม่บ้าง
การที่ต้องอยู่กับเด็กไฮเปอร์ตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้คุณแม่เหนื่อยเกินไป ควรมีเวลาพักเพื่อที่จะมีเรี่ยวแรงมาดูแลเด็กได้อีก คุณพ่อ หรือพี่เลี้ยงเป็นผู้ที่ช่วยได้มากทีเดียว ควรช่วยผลัดกันอยู่กับเด็กบ้าง หรือการที่คุณพ่อคุณแม่ได้มีเวลาออกไปนอกบ้านตามลำพังเพียงสองคนบ้าง จะช่วยให้คุณแม่หายเหนื่อยและมีกำลังใจขึ้นอย่างมากทีเดียวค่ะ
และทั้งหมดคือการรับมือเมื่อมีลูกมีอาการไฮเปอร์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความเหมาะสมนะคะ แต่หากอาการลูกน้อยนั้นเกินที่คุณแม่จะรับมือได้ควรไปปรึกษาคุณหมอค่ะ
ที่มา