นมแม่เป็นของฟรีและดีที่มีอยู่จริง ซึ่งแม่ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวต่อเนื่องไปจนถึง 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัยจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารกที่ระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนา ไม่เต็มที่
หลังจากทารกอายุครบ 6 เดือน เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีกรดคาร์บอนิก ซึ่งสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟัน ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในเด็กทารก
สำหรับแม่วัยทำงาน ในปัจจุบันมีเครื่องปั๊มนมที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับคุณแม่ในการเก็บน้ำนม หรือจะใช้มือบีบน้ำนมเก็บไว้ก็สามารถทำได้ ส่วนการเก็บน้ำนมในขวดหรือถุงเก็บน้ำนม ควรบีบเก็บเท่ากับปริมาณที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้ปิดฝาขวดหรือถุงให้มิดชิดทันที ถ้าตั้งไว้โดยไม่ใส่ในตู้เย็นน้ำนมจะอยู่ได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นให้เก็บในส่วนที่เย็นที่สุดคือ ชั้นที่ติดกับชั้นแช่แข็งด้านในสุดจะเก็บได้นาน 2 วัน หากเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นแบบ 2 ประตูจะเก็บได้นาน 3 เดือน
แต่ถ้าคุณแม่คนไหนมีน้ำนมน้อยหรือพยายามแล้วแต่ยังไม่มีน้ำนมก็ไม่ต้องกังวลไป สามารถไปปรึกษาคุณหมอหรือคลินิกน้ำนมแม่เพื่อขอคำแนะนำ เช่น วิธีการอุ้มลูก จัดท่าอุ้มลูกดูดนมได้ถูกต้อง ดูดได้ถูกวิธี ซึ่งการอุ้มลูกถูกวิธีและการดูดนมถูกวิธีจะช่วยลดปัญหาการเกิดแผลที่หัวนมหรือเจ็บเต้านม และการดูดบ่อยและ ดูดเกลี้ยงเต้าจะส่งผลให้น้ำนมคุณแม่ได้รับการกระตุ้นให้ไหลเพิ่มขึ้นจนเพียงพอ
อ้างอิงจาก