ไม่มีสิ่งใดดีต่อทารกยิ่งไปว่าน้ำนมแม่ แต่ด้วยความไม่เข้าใจหรือมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการให้นมลูกโดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ ก็อาจส่งผลเสียต่อลูกน้อยได้เช่นกัน วันนี้มี 4 เชื่อความผิดๆ เกี่ยวกับการให้นมลูกที่คุณแม่มักเข้าใจผิดมาฝากกัน ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นค่ะ
1. ลูกหลับตอนให้นมแสดงว่าลูกอิ่มแล้ว
ลูกหลับตอนให้นมแสดงว่าลูกอิ่มแล้ว ไม่จริง!
คุณแม่หลายๆ ท่านอาจจะนึกดีใจทุกครั้งที่ลูกหลับไป ยิ่งหลับในช่วงให้นมด้วยแล้วก็ยิ่งหมดห่วงเพราะคิดว่าลูกอิ่มท้องเลยเผลอหลับไป ซึ่งความจริงแล้วอาจจะไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะการที่ลูกเผลอหลับส่วนใหญ่แล้วเป็นเพราะได้ใกล้ชิดและได้รับความอบอุ่นจากแม่มากกว่า ไม่ใช่เพราะกินอิ่ม นั่นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อพัฒนาการทางร่างกายของลูกน้อยเลย ในเมื่อกินนมไม่พอ สารอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงร่างกายเขาก็ไม่ครบตามไปด้วย ทางที่ดีหากสังเกตว่าลูกของเราจะเผลอหลับไประหว่างให้นม คุณแม่ควรจับลูกน้อยเปลี่ยนเต้าไปอีกข้างเพื่อกระตุ้นให้เขาตื่นนอนเพื่อกินนมจนอิ่ม หรือวางเขาลงที่นอนก่อนสักครู่แล้วค่อยป้อนนมต่อได้
2. ทำความสะอาดหัวนมทุกครั้งก่อนให้ลูกดูดนมแม่
ทำความสะอาดหัวนมทุกครั้งก่อนให้ลูกดูดนมแม่ ไม่จริง!
การให้ทารกดื่มนมผสมนั้นต้องใส่ใจระมัดระวังเรื่องความสะอาด เพราะนมผสมนอกจากจะไม่ได้ช่วยป้องกันทารกต่อต้านการติดเชื้อแล้ว แต่ยังเป็นแหล่งที่ดีในการแพร่เชื้อแบคทีเรียและยังสามารถปนเปื้อนได้อย่างง่ายดายอีกด้วย ในทางตรงข้าม นมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อให้แก่ทารก การล้างทำความสะอาดหัวนมก่อนการให้นมลูกแต่ละครั้งนั้นทำให้เกิดความยุ่งยากในการให้นมลูกโดยไม่จำเป็นเลย และยังเป็นการชะล้างเอาพวกไขมันตามธรรมชาติซึ่งช่วยต่อต้านแบคทีเรียออกไปจากบริเวณหัวนมด้วย
3. ถ้าแม่ป่วยแล้วต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ถ้าแม่ป่วยแล้วต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่จริง!
แม้ว่าคุณแม่จะป่วย แต่ไม่มีผลกับสุขภาพของลูกแน่นอน คุณแม่สามารถให้นมกับลูกได้ตามปกติ เพื่อเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายของลูก ยิ่งคุณแม่ให้ลูกน้อยดูดนมมากเท่าไหร่ ลูกก็จะมีภูมิต้านทานมากเท่านั้น ยกเว้นเพียงบางกรณีเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อแม่เป็นไข้ (หรือไอ, อาเจียน, ท้องร่วง, ผื่นแพ้ ฯลฯ) ทารกก็ได้รับเชื้อโรคจากแม่แล้ว ตั้งแต่แม่ได้รับเชื้อโรคมาแล้วสองสามวัน ก่อนที่แม่จะรู้ตัวว่าตัวเองป่วยเสียอีก การปกป้องทารกจากการติดเชื้อหรือโรคติดต่อที่ดีที่สุดนั้นก็คือ การที่แม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป ถ้าทารกป่วย เขาจะป่วยไม่มากนักถ้าแม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนม
นอกจากนี้ อาจจะเป็นทารกเองที่ป่วยและแม่ได้รับเชื้อโรคจากลูก เพียงแต่ทารกไม่ได้แสดงอาการป่วยเพราะว่าทารกนั้นได้ดื่มนมแม่ เช่นเดียวกันกับการติดเชื้อที่เต้านมของแม่ ซึ่งได้แก่ ฝีที่เต้านม หรือแม้แต่การเจ็บคัดเต้านมก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาเหตุที่จะทำให้ต้องหยุดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะการติดเชื้อที่เต้านมนั้นดูเหมือนจะหายได้อย่างรวดเร็วกว่า ถ้าแม่ยังคงเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยให้ลูกดูดนมข้างที่เป็นนั้นต่อไป
4. เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไม่พอ
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ได้ เพราะไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไม่พอ ไม่จริง!
ไม่จริงค่ะ เพราะผู้หญิงที่เป็นแม่ส่วนใหญ่มีนมสำหรับลูกเกินพอเสียอีก การที่ทารกบางคนร้องมากๆ ในช่วงสัปดาห์แรกไม่ใช่เพราะนมแม่ไม่พอ แต่เป็นเพราะการดูดไม่ถูกต้อง ทำให้ทารกไม่ได้รับน้ำนมที่มีอยู่ในอกแม่อย่างที่ต้องการ เมื่อดูดไม่ถูกต้อง ลูกก็จะร้องเพราะไม่ได้น้ำนม วิธีแก้ปัญหาคือให้ลูกดูดให้ถูกวิธี ดูดบ่อยๆ ในวันแรกๆ เพื่อกระตุ้นการสร้างน้ำนม ซึ่งคุณแม่หลายคนคิดว่าตัวเองไม่มีน้ำนมแล้วแก้ปัญหาด้วยการให้นมผสมหยุดให้ลูกดูดนมจากเต้า พอหลายๆ วันเข้าร่างกายของคุณแม่ก็จะตอบสนองด้วยการหยุดสร้างน้ำนมจริงๆ เพราะร่างกายคิดว่าไม่มีความต้องการแล้ว จึงไม่ผลิตนั่นเอง
การให้นมลูกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนโดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ เพราะส่งผลถึงสุขภาพและพัฒนาการของลูก ซึ่งถ้าหากคุณแม่ไม่แน่ใจเรื่องไหนแนะนำให้ปรึกษาสูตินารีแพทย์ผู้ดูแลคุณแม่และลูกน้อยจะดีที่สุดค่ะ
ที่มา – breastfeedingthai, baby.kapok