คุณพ่อคุณแม่รู้ไหมคะว่าเด็กในช่วงปฐมวัยควรเน้นพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา มากกว่าการเน้นวิชาการ ที่พยายามให้ลูกอ่านออกเขียนได้ ดังนั้นการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้คือ การเรียนรู้จากการลงมือกระทำอย่างอิสระในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยากรู้อยากเรียน ซึ่งมีอยู่แนวคิดหนึ่งค่ะ ที่มีการนำการเรียนรู้แบบนี้มาใช้ นั่นก็คือ แนวคิดไฮสโคป (HighScope) นั่นเอง วันนี้เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดนี้แบบเบื้องต้นมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคน เผื่อจะนำไปปรับใช้กับเจ้าตัวเล็กที่บ้านได้นะคะ
แนวคิดไฮสโคป (HighScope)
มีพื้นฐานแนวคิดมาจากทฤษฎีของเพียเจต์ (Piage’s Theory) ที่เกี่ยวกับพัฒนาทางสติปัญญาที่เน้นเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ โดยเด็กสามารถสร้างความรู้ได้เองโดยใช้กระบวนการสร้างสรรค์การเรียนรู้ (Constructive process of Learning) ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้จากการกระทำ และมีการประเมินผลงานอย่างมีแบบแผน
หลักการของไฮสโคป (HighScope)
หลักการที่สำคัญคือการเรียนรู้จากการลงมือทำ ผ่านกิจกรรมและสื่อที่หลากหลายที่มีความเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเป็นตัวช่วย โดยจะต้องปล่อยให้เด็กเป็นคนเริ่มการเล่นหรือกิจกรรมอย่างอิสระด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเด็ก ซึ่งการเรียนรู้แบบลงมือทำจะเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดถ้าส่งเสริมเด็กอย่างเหมาะสมกับพัฒนาการ
หัวใจสำคัญของไฮสโคป (HighScope)
การเรียนรู้แบบไฮสโคปนั้นมีหัวใจสำคัญอยู่ที่กระบวนการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้อยู่ 3 ขั้นตอนคือ
- การวางแผน (Plan) เป็นการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติว่าจะดำเนินกิจกรรมออกมายังไง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย หรือกิจกรรมที่ตนเองสนใจก็ตาม โดยเด็กจะต้องคุยกับคุณครูหรือเพื่อนๆ เพื่อวางแผนการทำงานอย่างเหมาะสม ทำให้เด็กๆ รู้สึกสนใจในกิจกรรมนั้นๆ เพราะตนเองได้เป็นคนวางแผนเอง ซึ่งนั่นเป็นโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นและกล้าตัดสินใจ การทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กเชื่อมั่นในตนเอง สามารถควบคุมตัวเองได้
- การลงมือทำ (Do) ในขั้นตอนนี้เป็นการให้เด็กลงมือทำตามสิ่งที่วางแผนไว้อย่างอิสระ โดยจะมีเวลากำหนด เน้นให้เด็กช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันทดลองและแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีจุดหมาย ซึ่งจะทำให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ รู้จักคิดแก้ปัญหาและค้นพบความคิดใหม่ๆ อีกทั้งยังได้พัฒนาทักษะการพูดและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูงอีกด้วย
- การทบทวน (Review) ในช่วงนี้เด็กๆ จะได้ทบทวนในสิ่งที่ตนเองได้ลงมือทำไป เป็นการพูดคุยร่วมกัน ว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกเป็นยังไง ตรงตามที่คิดไหม มีวิธีการดำเนินการแบบไหน มีการเปลี่ยนแปลแผนหรือไม่ มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กได้เชื่อมโยงสิ่งที่วางแผนไว้กับผลงานที่ทำ และเป็นการเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้ลงมือทำด้วยตนเอง
องค์ประกอบของการเรียนรู้
จุดเด่นของการเรียนรู้ตามแนวคิดไฮสโคปอยู่ที่องค์ประกอบของการเรียนรู้ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ข้อ คือ
1. เด็กคือจุดศูนย์กลาง : เปิดโอกาสให้เด็กเป็นคนเลือกและตัดสินใจว่าจะทำกิจกรรมไหน ตามความสนใจของตนเอง ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากกว่าการรอรับฟังความรู้จากผู้ใหญ่
2. ต้องมีสื่อและอุปกรณ์ที่เหมาะสม : ควรจะต้องมีการจัดเตรียมสื่อ วัสดุและอุปกรณ์ในห้องเรียนให้หลากหลาย จัดเก็บให้เรียบร้อย และเหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก เพื่อให้เด็กได้เลือกวัสดุมาใช้อย่างอิสระ การทำแบบนี้จะช่วยให้เด็กรู้จักเชื่อมโยงการกระทำต่างๆ ว่าของที่เลือกมาจะเข้ากันไหม ได้เรียนรู้ในเรื่องความสัมพันธ์ของสิ่งของและเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหามากขึ้น
3. มีพื้นที่และเวลาที่เพียงพอ : การทำกิจกรรมแบบไฮสโคปจะต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมทั้งต่อการทำกิจกรรมคนเดียว และทำเป็นกลุ่ม มีมุมประสบการณ์ต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่เหมาะสม นอกจากนี้การจัดสรรเวลาให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรมตลอดทั้งวันก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้เด็กรู้จักรักษาเวลานั่นเอง
4. เน้นให้เด็กใช้สัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้ : การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ในการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับวัตถุ ได้ลองทดสอบสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง นำไปสู่การเรียนรู้ด้านความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องของวัตถุด้วยตัวเอง ทำให้เด็กเป็นคนช่างสังเกต และขี้สงสัย
5. ภาษาจากเด็ก : เด็กจะสะท้อนประสบการณ์ความคิด ความเข้าใจ และความรู้สึกผ่านการพูดและการบอกเล่า การที่เด็กได้เรียนรู้แบบลงมือทำ เด็กมักจะเล่าว่าตัวเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง มีผลลัพธ์แบบไหน เมื่อเด็กมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นจากคนอื่น ก็จะทำให้ได้เรียนรู้วิธีการพูดที่ทำให้คนอื่นเข้าใจ เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ได้พัฒนาความคิดควบคู่ไปกับพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง
6. การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ : การเรียนรู้ตามแนวคิดไฮสโคปจะเกิดขึ้นไปได้เลยถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแลหรือสนับสนุน เพราะจะต้องมีการเตรียมสิ่งของต่างๆ ให้พร้อมต่อการเรียนรู้ของเด็ก ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเรียนรู้แบบนี้จะต้องสร้างสัมพันธ์กับเด็ก สังเกตและค้นหาความสนใจ ความตั้งใจในการทำกิจกรรม ผู้ใหญ่ควรรับฟังและส่งเสริมให้เด็กคิดและทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง
การเรียนรู้แบบไฮสโคปสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกกิจกรรม ไม่จำเป็นแต่เฉพาะกับการเรียนการสอนที่โรงเรียนเท่านั้น เมื่ออยู่ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ง่ายๆ ในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงานบ้าน คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถใช้หัวใจสำคัญอย่าง Plan-Do-Review ได้ โดยเริ่มจากให้ลูกเลือกงานบ้านที่จะทำด้วยตัวเอง ลงมือทำ (แน่นอนว่าในระหว่างที่ทำงานบ้านย่อมมีอุปสรรคบางอย่างเกิดขึ้น) หลังจากนั้นเมื่อทำเสร็จก็มาพูดคุยกันว่างานบ้านที่ทำเป็นอย่างไรบ้าง มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นและผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไรค่ะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก