ปกติเด็กในช่วงอายุ 8-12 เป็นช่วงที่เด็กกำลังมีความสดใส ร่าเริง ช่างพูดช่างคุย และยังไม่ค่อยมีความทุกข์ใจมากนัก แต่คนเป็นพ่อแม่อาจจะไม่มีทางรู้เลยว่าภายในใจของเด็กน้อยตัวเล็กๆ ได้เก็บกดอะไรเอาไว้บ้าง หรือมีปัญหาทางกายที่ส่งผลกระทบต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า อาการของโรคนั้นก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะได้มีวิธีแก้ไขและรับมือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
โรคซึมเศร้าในวัยเด็ก
ทางการแพทย์ได้จำแนกการเป็นโรคซึมเศร้าในวัยเด็กได้ 2 ปัจจัยดังนี้
1. ปัจจัยทางกาย
- สาเหตุจากกรรมพันธุ์ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเกิดโรคนี้ตามมาได้
- สาเหตุจากเคมีในสมองไม่สมดุล เป็นสาเหตุพื้นฐานของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเกือบทุกเพศทุกวัย
- สาเหตุจากโรคบางชนิด เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดในสมอง โรคพาร์กินสัน โรค SLE เป็นต้น
2. ปัจจัยทางจิตใจ
- สาเหตุจากผู้ปกครอง เด็กถูกถูกเลี้ยงดูอย่างเข้มงวดจนเกินไป หรือถูกบังคับ ถูกกดดันอย่างหนัก
- สาเหตุจากเพื่อน ถูกเพื่อนกลั่นแกล้งเป็นประจำเวลาอยู่ที่โรงเรียน จนทำให้เกิดความวิตกกังวล
- สาเหตุจากตัวเอง เช่น โรคขาดความมั่นใจในตัวเองจนรู้สึกกับตัวเองในแง่ลบ
- สาเหตุจากอดีต เกิดจากการจดจำเรื่องราวเลวร้าย เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย พ่อแม่ทิ้ง เป็นต้น
วิธีการสังเกตว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่
1. ไม่ร่าเริงเหมือนก่อน
มีอาการเศร้าซึม จากที่เมื่อก่อนก็ร่าเริงเป็นปกติดี อาการเหล่านี้จะสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายมากที่สุด มีอารมณ์ที่ซึมเศร้าลง เบื่อหน่ายมากขึ้น หรือบางรายอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ทั้งๆ ที่เคยมีความสุขกับกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบทำ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกต้องมีปัญหาภายในใจแน่นอน
2. ไม่อยากอาหาร
ไม่อยากอาหาร น้ำหนักลดลง หรือในขณะที่บางรายก็ทานอาหารมากเกินไป
3. มีอาการป่วย นอนไม่หลับ
บางครั้งเด็กก็ไม่สามารถประมวลความรู้สึกออกมาได้ว่า สิ่งที่กำลังเกิดอยู่นั้นคือ “ความเศร้า” จึงทำให้เกิดความกดดันและกลายเป็นการเจ็บป่วยอย่างเช่น การปวดศีรษะ ปวดท้อง อาเจียน ทุกครั้งที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง นอนไม่หลับ หลับๆตื่นๆ หรือตื่นเร็วกว่าปกติ
4. เฉื่อยชา สมาธิสั้น
เฉื่อยชา ไม่มีสมาธิในการเรียน ความจำแย่ลง เด็กมีอาการสมาธิสั้นลง จากที่เคยจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เวลานอนหลับจะหลับไม่ค่อยสนิท กระสับกระส่าย พลิกตัวอยู่ตลอดเวลา
5. รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า
รู้สึกผิด โทษตัวเอง รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า บางคนถึงขนาดอยากฆ่าตัวตาย
วิธีการรับมือเมื่อลูกป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากหลายหลายกรณี อาจเกิดจากพฤติกรรมของพ่อแม่ที่กดดันจนลูกเกิดความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการบังคับให้ทำตามใจ การทะเลาะวิวาทกันบ่อยครั้งในครอบครัว ซึ่งพ่อแม่ควรจะเริ่มปรับในจุดนี้ก่อนเป็นจุดแรก เพื่อให้เด็กเกิดความสบายใจมากยิ่งขึ้นและหมั่นพูดคุยกับลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิด อะไรที่กำลังเป็นปัญหาของลูกอยู่ในขณะนี้ พ่อและแม่จะสามารถช่วยอะไรได้บ้าง ซึ่งจะช่วยเยียวยาจิตใจเด็กได้ดีที่สุดค่ะ
ที่มา :