” หนูขออีกแปปเดียวนะคะ ” ใช่ค่ะประโยคตัวอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่มักจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อเด็กๆ เริ่มโตและเริ่มต่อรองในเรื่องต่างๆ ได้ จนบางครั้งคุณพ่อคุณแม่ก็เกินจะรับไหว เมื่อเขาต่อรองจนต้องแผลงฤทธิ์ตามมาจนเราต้องถอดใจ ทำตามที่เขาขอเพื่อไม่ให้ลูกงอแง
ซึ่งวันนี้ทาง ParentsOne มีแนวทางปฏิบัติเมื่อลูกชอบต่อรอง ที่ใช้ได้ได้ผลดี จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
เด็กวัยไหนที่ชอบต่อรอง
พบว่าเด็กวัย 3 – 4 ขวบ เป็นเด็กที่สามารถต่อรองเรื่องต่างๆ กับคุณพ่อคุณแม่ได้แล้ว เนื่องจากทักษะทางภาษาของเขาเริ่มสื่อสารได้ว่าต้องการอะไร และการต่อรองกับพ่อแม่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่สอนให้เด็กๆ รู้จักคิดและหาทางออกที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับได้นั้นเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยใช่ไหมล่ะคะ เพราะการต่อรองมักจะมีฝ่ายที่งอแงเสมอ และด้วยความเป็นเด็กของเขาทำให้บางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจและไม่ยอมรับสิ่งที่ต่อรองจากคุณได้ เราต้องใช้เวลาค่ะ เรื่องนี้มีทางออกค่ะคุณพ่อคุณแม่
แนวทางปฏิบัติเมื่อลูกเกิดการ “ต่อรอง”
-
Kind but firm : เป็นเรื่องที่ยังไงก็ต่อรองกันไม่ได้
เป็นเรื่องที่ยังไงก็ไม่สามารถให้ลูกได้ แม้จะต่อรองกันยังไงก็ตาม กฏย่อมเป็นกฏ อย่างเช่น เรื่องการคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถทุกคนต้องปฏิบัติ เช่นเดียวกับลูกที่ต้องนั่งคาร์ซีท หากหนูไม่ยอมนั่งหรืองอแง คุณพ่อคุณแม่เองก็จะไม่ออกรถไปไหนทั้งนั้น เป็นต้น เพียงแค่ “เรายืนยัน ไม่ได้ก็คือไม่ได้ค่ะ”
-
ถามความคิดเห็น หรือให้ทางเลือกกับลูก
ถ้าหากเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ซีเรียส หรือต้องทำตามต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็สามารถต่อรองกันได้ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามไม่สั่งให้เขาต้องต่อรอง แต่เปลี่ยนมาเป็นการถามความคิดเห็นแทนหรืออาจจะให้ทางเลือก
เช่น ” ใกล้เวลาอาบน้ำแล้วนะลูก หนูจะอาบน้ำเมื่อไหร่ดี ” หรือ ” หนูจะดูการ์ตูนอีก 1 หรือ 2 ตอนดีคะ เราจะได้ไปนอนกัน ” เป็นต้น
-
win/win situation : เป็นการตกลงที่โอเคทั้งสองฝ่าย
ถ้าเป็นเรื่องที่ลูกก็ต่อรองได้ และคุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่แน่ใจว่าควรให้ลูกหรือเปล่า ขอแนะนำว่าให้เราและลูกช่วยกันคิด หรือตกลงกันที่ทั้งสองฝ่ายเข้าใจและโอเคทั้งคู่
เช่น ” แม่รู้ว่าหนูอยากดูการ์ตูนต่ออีกหลายตอน แต่ตอนนี้ถึงเวลากินข้าวแล้ว และคุณพ่อก็รอกินข้าวพร้อมกับเราอยู่ งั้นช่วยคิดซิว่า ทำยังไงให้หนูได้ดูการ์ตูนต่อแล้วเราก็ไปกินข้าวกับคุณพ่อกัน ”
ลูกก็จะตอบว่า ” งั้นหนูขอดูอีก 1 นาทีนะคะ แล้วจะรีบไปกินข้าวกับคุณพ่อกัน “/ คุณแม่พูดว่า ” ได้จ๊ะลูก งั้นอีกนาทีเดียวนะคะ ” เพียงเท่านี้ก็ถือว่า win win ทั้งคู่นะคะ
-
ท่าทีเป็นเรื่องสำคัญ
โดยการต่อรองนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจะสบตากับลูกอย่างจริงจัง มีสีหน้า และท่าที ที่แสดงออกให้รู้ว่าเราเอาจริงแล้วนะ เมื่อตกลงกันแล้ว ถึงเวลาแม่จะเอาจริงนะ เมื่อลูกต่อรองถือว่าเป็นที่สิ้นสุด เมื่อครบตามเวลาที่ได้ตกลงกันแล้วทั้ง 2 ฝ่าย จะไม่มีการต่อรองเกิดขึ้นอีก ให้คุณแม่เดินเข้าไปหาลูกและสบตาเขาอย่างจริงจัง แล้วบอกลูกว่า “หมดเวลาแล้วตามที่ตกลง” แต่เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกว่ากดดันหรือบีดคั้นมากเกินไป เราอาจจะเสนอทางเลือกให้เขาเช่น ถึงเวลาปิดทีวีที่เราได้ตกลงไว้แล้วเราอาจจะถามเขาว่า “ลูกจะปิดเองหรือให้แม่ปิดคะ” เป็นต้น
-
มองโลกในแง่ดี
เมื่อเราได้เปิดใจไม่มองการต่อรองเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากนัก ก็ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นพัฒนาการในแง่ดีนะคะ เพราะนอกจากที่เราจะได้รู้ว่า ลูกของเราก็รู้จักแสดงความคิดเห็นเป็นของตัวเองแล้ว ก็ยังรู้จักต่อรองอย่างเข้าใจเหตุผล ถึงแม้จะเป็นเหตุผลที่มีความเป็นเด็กก็ตามค่ะ ดังนั้นเราต้องฝึกเด็กๆ ให้รู้จักต่อรองอย่างมีเหตุมีผลและรับฟังเหตุผลได้นั้นเองค่ะ เมื่อลูกได้เรียนรู้ว่าเรารับฟังความต้องการของเขา ความต้องการของเราก็จะถูกลูกเข้าใจมากขึ้นเสมอค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน, amarinbabyandkids, หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก