คุณแม่ๆ เคยสังเกตไหมคะว่าเวลาลูกดูดน้ำนมจากเต้าของเรา ลูกดูดเกลี้ยงเต้าแล้วจริงๆ หรือเปล่า แล้วแบบไหนที่เขาเรียกว่าดูดนมเกลี้ยงเต้ากัน ซึ่งหลายครั้งเองคุณแม่มือใหม่ก็มักจะเข้าใจผิดว่าทำไมดูดเกลี้ยงเต้าแล้วยังมีบีบด้วยมือก็ยังไหลออกมาอีก วันนี้เราจะพาไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันเลยค่ะ
สิ่งที่คุณแม่ๆ มักเข้าใจผิด
นมเกลี้ยงเต้า ไม่ได้หมายความว่า “ไม่มีน้ำนมเหลือในเต้าแล้ว”
จริงๆ แล้วนมเกลี้ยงเต้าไม่มีทางที่น้ำนมจะแห้งไปได้เลย เนื่องจากร่างกายยังต้องผลิตน้ำนมอยู่ตลอดเวลา คำว่านมเกลี้ยงเต้าจริงๆ แล้วคือการเอาน้ำนมส่วนใหญ่ออกไปเท่านั้น เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับเก็บน้ำนมที่ผลิตออกมาใหม่
ทำไมถึงต้องให้ลูกดูดนมเกลี้ยงเต้า
เพราะนมแม่ในแต่ละส่วนมีปริมาณไขมันที่แตกต่างกัน
- น้ำนมส่วนหน้า : สีจะจางกว่า
- น้ำนมส่วนหลัง : สีเข้ม เพราะมีปริมาณไขมันและสารอาหารอื่นๆ มากกว่า เพราะฉะนั้นการให้ลูกดูดนมเกลี้ยงเต้าจะทำให้เด็กๆ ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนนั่นเองค่ะ
ทำอย่างไรให้ลูกดูดเกลี้ยงเต้า
1. ใช้หัวนมเขี่ยแก้มหรือริมฝีปากลูกเบาๆ
ลูกจะหันปากเข้าหาหัวนมพร้อมกับอ้าปากกว้างคล้ายกับการหาว ลูกควรอมงับหัวนมไปจนถึงลานนม โดยให้อมลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน จะช่วยทำให้เขาดูดได้ในปริมาณที่มากนั่นเองค่ะ
2. คุณแม่ๆ ต้องนั่งให้ถูก
โดยอุ้มลูกในท่าอุ้มขวางตักแบบประยุกต์ ให้ตัวลูกอยู่ในระนาบเดียวกัน จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าได้ดีมากยิ่งขึ้น
3. คางลูกต้องชิดกับเต้านมส่วนล่าง
วิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าแม่ได้ดีขึ้น ริมฝีปากบนและล่างบานออก และจมูกของลูกจะอยู่ห่างออกจากเต้าแม่เล็กน้อย
4. คุณแม่ต้องช่วยพยุงเต้านม
เพื่อให้หัวนมเข้าปากลูกได้ง่ายขึ้นค่ะ โดยวางนิ้วหัวแม่มือไว้ที่ด้านบนของเต้านม นิ้วที่เหลือให้ใช้พยุงเต้านมอยู่ด้านล่าง ไม่ควรใช้นิ้วคีบเต้านมให้ลักษณะคีบบุหรี่ เพราะจะไปบีบท่อน้นำนมไม่ให้ไหลออกมาได้อย่างสะดวกนั่นเองค่ะ
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกดูดนมเกลี้ยงเต้าแล้ว
- มีอาการคัดเต้านม
- เต้านมจะนิ่มหลังดูดเสร็จ
- น้ำนมหยดมาน้อยเมื่อบีบเต้า
ถ้าลูกดูดไม่เกลี้ยงเต้าจะเกิดอะไรขึ้น
- ทำให้ลูกท้องอืด
- ลูกอุจจาระปนน้ำบ่อยกว่าปกติ
- คุณแม่ๆ มีก้อนแข็งๆ ที่เต้านมได้
- ไม่ได้รับสารอาหารจากนมส่วนหลังซึ่งมีปริมาณสารอาหารมากกว่า
อ้างอิงจาก : babybbb, caringmybabies