ความกังวลใจของคุณแม่ๆ อย่างหนึ่งขณะที่กำลังตั้งครรภ์ นั้นก็คือสุขภาพและน้ำหนักของลูก คุณแม่บางคนก็กังวลใจว่าเมื่อคลอดเจ้าตัวเล็กออกมาแล้ว ลูกจะมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์หรือมากกว่าเกณฑ์ แล้วหากจะเพิ่มน้ำหนักลูกในครรภ์ คุณแม่ๆ ก็จะต้องหาวิธีบำรุงต่างๆ เพื่อให้หนูน้อยออกมามีสุขภาพแข็งแรง และน้ำหนักตามเกณฑ์นั้นเองค่ะ วิธีเพิ่มน้ำหนักลูกน้อยในครรภ์จะมีวิธียังไงบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
สาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย
โดยปกติเด็กทารกช่วงแรกเกิด ถ้ามีการคลอดตามกำหนด จะมีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2.8-3.2 กิโลกรม แต่ในขณะที่ลูกอยู่ในครรภ์น้ำหนักตัวของเขาถ้าหากหนักประมาณ 2 กิโลกรัม ถือว่าน้อยกว่าปกติ ซึ่งทั้งนี้ก็มีสาเหตุสำคัญต่างๆ มากมาาย เช่น
- คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตัวเล็ก ลูกในครรภ์จึงตัวเล็กตามไปด้วย
- ทารกมีความผิดปกติทางโครโมโซมในทารก หรือความพิการแต่กำเนิด
- สุขภาพของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งบางโรคก็สามารถส่งต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคเกี่ยวกับปอด โรคโลหิตจาง โรคหัดเยอรมัน เป็นต้น
- ความผิดปกติของรก เช่น ภาวะรกเกาะต่ำ หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งทำให้ทารกได้รับออกซิเจนหรือสารอาหารไม่เพียงพอ
- พฤติกรรมขณะตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบถ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- คุณแม่มีอายุน้อย หรือเป็นวัยรุ่นก็อาจจะทำให้ลูกในครรภ์มีน้ำหนักน้อยตามไปด้วย
- การตั้งครรภ์แฝด
รู้ได้ยังไง…ว่าทารกในครรภ์มีน้ำหนักตัวน้อย
1.คุณแม่ๆ ต้องสังเกตเกี่ยวกับน้ำหนักของคุณแม่เอง ว่ามีการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาการตั้งครรภ์หรือไม่ หากน้ำหนักตัวของคุณแม่ไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ นั้นก็หมายความว่าคุณแม่ต้องระวังนะคะ เพราะสำหรับการตั้งครรภ์น้ำหนักของคุณแม่จะต้องเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจากอายุครรภ์ได้ 3 เดือน โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักจะต้องขึ้นสัปดาห์ละ 0.2 – 0.5 กิโลกรัม
2. การตรวจวัดความสูงยอดมดลูก
- ใช้สัดส่วนของยอดมดลูก กับหน้าท้องของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์
วิธีวัดความสูงยอดมดลูกโดยการใช้สัดส่วนของยอดมดลูกกับหน้าท้องหญิงตั้งครรภ์ ทำได้โดยแบ่งระยะระหว่างสะดือกับกระดูกหัวหน่าวเป็น 3 ส่วนเท่า ๆ กัน และแบ่งระยะระหว่างสะดือกับกระดูกลิ้นปี่เป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน ซึ่งความสูงของยอดมดลูกแต่ละช่วงอายุครรภ์ จะมีความสัมพันธ์กันดังนี้
- อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 1/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงประมาณ 2/3 เหนือกระดูกหัวหน่าว
- อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ระดับสะดือ
- อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ ยอดมดลูกจะสูงกว่าระดับสะดือเล็กน้อย
- อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 1/4 เหนือระดับสะดือ
- อายุครรภ์ 32 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 2/4 เหนือระดับสะดือ
- อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ยอดมดลูกอยู่ 3/4 เหนือระดับสะดือ
- วัดจากความสูงของยอดมดลูกโดยใช้สายวัด
การวัดระดับยอดมดลูกโดยใช้สายวัดทำได้โดยการวัดระยะจากรอยต่อของกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดมดลูก โดยแนบตามส่วนโค้งของมดลูก ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ 18–30 สัปดาห์ ระยะที่วัดได้เป็นเซนติเมตร จะเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น หากวัดได้ 28 เซนติเมตร ก็จะเท่ากับอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ นั่นเอง
3.วัดจากการอัลตราซาวด์
การอัลตราซาวด์ถือว่าเป็นการประเมินขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ได้ค่อนข้างแม่นยำกว่าวิธีอื่นๆ นะคะ นอกจากจะเห็นความแข็งแรงสมบูรณ์และเช็คความผิดปกติของทารกในครรภ์แล้ว คุณแม่ๆ ยังทราบถึงเพศของลูกน้อยได้อีกด้วยนะคะ ซึ่งการประเมินขนาดของทารกในครรภ์จะดูจากสิ่งต่อไปนี้ค่ะ
- ขนาดของหน้าท้องที่นูน หรือยื่นออกไปด้านหน้าหรือด้านข้าง
- น้ำหนักตัวของคุณแม่ที่เพิ่มขึ้น
- น้ำคร่ำมากหรือน้อย
- ตั้งครรภ์แฝดหรือไม่
- ทารกลอยต่ำหรือลอยสูง
ตารางเทียบน้ำหนักลูกน้อยในครรภ์
สำหรับคุณแม่ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์ และอยากทราบว่าลูกในครรภ์โตมากน้อยขนาดไหนแล้ว ซึ่งทารกในครรภ์แต่ละคนก็มีขนาดและน้ำหนักที่ต่างกันออกไป วันนี้เราจึงนำ ตารางน้ำหนักและขนาดของทารกในครรภ์ มาฝากคุณแม่ๆ กันนะคะ จะได้ทราบว่าหนูน้อยควรจะมีขนาดและน้ำหนักประมาณไหน ถึงจะเรียกว่าตามเกณฑ์นั้นเองค่ะ ไปดูกันเลย
วิธีเพิ่มน้ำหนักให้ลูกในครรภ์
คุณแม่ๆ มักจะเข้าใจผิดว่าหากเจ้าตัวเล็กในครรภ์มีน้ำหนักน้อย ก็ต้องเน้นสารอาหารที่เพิ่มพลังงาน เพื่อให้ลูกออกมาแล้วน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่าเกณฑ์ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือ คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าเน้นสารอาหารที่ให้พลังงานนะคะ มาดูกันเลยค่ะว่ามีวิธีเพิ่มน้ำหนักเจ้าตัวน้อยในครรภ์ยังไงบ้าง
- กินอาหารเท่าที่จำเป็น นั้นก็หมายความว่า คุณแม่ๆ ที่มีสภาวะทางโภชนาการปกติอยู่ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หรือคุณแม่ที่กำลังในนมลูกก็ตาม ต้องการแคลอรี่เพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่/วัน แต่ถ้าหากใครที่มีน้ำหนักเกินแล้ว ไม่ควรกินเพิ่ม แต่กินให้เท่ากับตอนที่ยังไม่ตั้งครรภ์ นั้นก็คือ 2,000 กิโลแคลอรี่/วัน นั้นเองค่ะ
- รับประทานอาหารที่หลากหลาย โดยเน้นโปรตีน แต่ไม่เน้นรับประทานอาหารอย่างเดียวในปริมาณมากๆ เช่น ไข่ 10 ฟองต่อวัน , นมวันละ 2 ลิตร เพราะถ้ารับประทานบ่อยๆ อย่างเช่นนม หรือ ไข่ อาจจะทำให้ลูกเมื่อคลอดออกมาแล้วจะเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเหล่านั้นได้นะคะ
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะหากเครียด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความกังวลขึ้น ก็สามารถทำให้ลูกในครรภ์ตัวเล็กได้เหมือนกันนะคะ แนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์เลยนั้นก็คือ ควรทำงานให้น้อยลง ผ่อนคลายบ้าง ลองเดินไปดูธรรมชาติ เดินเล่นสวนดอกไม้ เพื่อลูกน้อยนะคะ
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น งดดื่มสุราและบุหรี่
- ออกกำลังกายในท่าที่เหมาะสม เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ลูกน้อยในครรภ์และตัวของคุณแม่เองนั้นมีสุขภาพที่ดีและแข็งแรงด้วยนั้นเองค่ะ
- ตามคำแนะนำของคุณหมอนั้นก็คือ ควรรับประทานอาหารทุก 2 ชั่วโมง ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป เช่น ทานกล้วยหอม 1 ลูก ตามด้วยแอปเปิล แล้วอีก 2 ชั่วโมงต่อมา ก็กลับมารับประทาน นมถั่วเหลืองกับขนมปังทาตับบด สลับกันไป พอถึงช่วงเย็นๆ ก็ทานอาหารปกตินั้นเองค่ะ แต่ต้องรับประทานให้ครบห้าหมู่นะคะ เพียงเท่านี้ก็เพิ่มน้ำหนักให้ลูกในครรภ์ได้อย่างดีเลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : konthong, amarinbabyandkids, pobpad