เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์มากแล้ว มักจะมีอาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกเริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนบางทีมดลูกเริ่มแข็งเป็นก้อนแล้วแน่นท้องจนท้องแข็งขึ้นมา แล้วคุณแม่จะมีวิธีรับมือได้อย่างไรบ้าง มาดูกันเลยค่ะ
ลุกขึ้นและนอนลงอย่างช้าๆ
เนื่องจากอาการท้องแข็งมักจะเกิดขึ้นบ่อยตอนที่คุณแม่ล้มตัวนอนลงบนเตียงหรือลุกขึ้นจากเตียง ดังนั้นเวลาที่คุณแม่จะล้มตัวลงนอนจะต้องค่อยๆ ตะแคงเอนลงอย่างช้าๆ รวมถึงเวลาจะลุกก็ต้องพลิกตัวแล้วตะแคงขึ้นอย่างช้าๆ เช่นกันค่ะ
ไม่ควรขับรถเอง
คุณแม่ไม่ควรขับรถไปเอง เพราะการที่คุณแม่ขับรถเองในช่วงที่ท้องใหญ่ขึ้นนั้น นอกจากจะขับรถไม่สะดวกแล้ว คุณแม่ยังต้องนั่งอยู่ในท่าที่หน้าท้องถูกกดทับตลอดเวลา อีกทั้งจังหวะที่รถวิ่งๆ หยุดๆ จะทำให้ลูกกระแทกผนังมดลูกไปมา อาจทำให้เกิดการเจ็บท้องหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ
ไม่ลูบท้องบ่อยๆ
ถึงแม้ว่าการลูบท้องจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อยในท้อง แต่ในช่วงใกล้คลอดแนะนำว่าคุณแม่อย่าเพิ่งเอามือไปจับท้องบ่อยเพราะมดลูกไวต่อการกระตุ้นมาก การที่คุณแม่เอามือไปจับจะทำให้มดลูกแข็งตัว จึงเป็นสาเหตุให้คุณแม่รู้สึกท้องแข็งนั่นเองค่ะ
อย่าจับหน้าอก
คุณแม่อย่าเพิ่งจับหน้าอกเพราะถ้าเกิดหัวนมแข็งชันขึ้นมาเมื่อใด มดลูกก็อาจจะแข็งตัวตามมาได้เช่นกัน ส่วนคุณแม่ที่มีลูกเล็กและกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรให้ลูกหย่านมเพราะการดูดนมแม่นั้นจะส่งผลให้มดลูกบีบรัดตัวตามไปด้วยค่ะ
ไม่อั้นปัสสาวะ
คุณแม่ไม่ควรอั้นปัสสาวะเพราะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะโป่งมากขึ้น และไปกดเบียดมดลูกจนมดลูกมีความดันสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณแม่ท้องแข็ง นอกจากนี้หากกระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ จะกระตุ้นให้มดลูกแข็งตัวจนแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดได้ค่ะ
จะเห็นได้ว่าภาวะท้องแข็งของคุณแม่ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวถ้ารู้จักวิธีที่รับมือได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตามอยากให้คุณแม่ลองสังเกตสิ่งผิดปกติอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอาการไม่ค่อยดีนักควรรีบพบแพทย์ค่ะ